เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 3. สมุททวรรค 3. พาฬิสิโกปมสูตร

ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัดมีอยู่ นี้เรียกว่า ‘สมุทรในอริยวินัย’ โลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ในสมุทรนี้โดย
มากเป็นผู้เศร้าหมอง ยุ่งเหยิงประดุจด้ายของช่างหูก เป็นปมประหนึ่งกระจุกด้าย
เป็นประดุจหญ้าปล้องและหญ้ามุงกระต่าย ย่อมไม่พ้นจากอบาย ทุคติ วินิบาต
และสงสารไปได้
“บุคคลใดคลายราคะ โทสะ และอวิชชาได้แล้ว
บุคคลนั้นชื่อว่าข้ามสมุทรนี้ซึ่งมีทั้งคลื่น สัตว์ร้าย
(และ) ผีเสื้อน้ำที่น่ากลัวข้ามได้ยากได้แล้ว
เรากล่าวว่า ‘บุคคลนั้นล่วงพ้นเครื่องข้อง ละมัจจุ
ไม่มีอุปธิ ละทุกข์เพื่อไม่เกิดอีกต่อไป
ถึงความดับ ไม่ถึงการนับ ลวงมัจจุราชให้หลงได้”

ทุติยสมุททสูตรที่ 2 จบ

3. พาฬิสิโกปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยพรานเบ็ด

[230] “ภิกษุทั้งหลาย พรานเบ็ดหย่อนเบ็ดที่มีเหยื่อลงไปในห้วงน้ำลึก
ปลาตัวใดเห็นแก่เหยื่อกลืนเบ็ดนั้น ปลาตัวนั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดของนายพรานเบ็ด
ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ ถูกพรานเบ็ดทำได้ตามใจปรารถนาแม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย เบ็ด 6 ชนิดนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอยู่ในโลกเพื่อความ
วิบัติของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อฆ่าสัตว์ทั้งหลาย
เบ็ด 6 ชนิด อะไรบ้าง
คือ รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยังเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดรูปนั้นอยู่ ภิกษุนี้เรา
เรียกว่า ‘ผู้กลืนเบ็ดของมาร ถึงความวิบัติ ถึงความพินาศ ถูกมารผู้มีบาปทำได้
ตามใจปรารถนา’ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :219 }