เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 2. โลกกามคุณวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชัก
ให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดมีอยู่ เหล่านี้เราเรียกว่า ธรรมที่เกื้อกูลแก่อุปาทาน
ฉันทราคะในธรรมารมณ์นั้นชื่อว่าอุปาทาน”

อุปาทานิยธัมมสูตรที่ 10 จบ
โลกกามคุณวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมมารปาสสูตร 2. ทุติยมารปาสสูตร
3. โลกันตคมนสูตร 4. กามคุณสูตร
5. สักกปัญหสูตร 6. ปัญจสิขสูตร
7. สารีปุตตสัทธิวิหาริกสูตร 8. ราหุโลวาทสูตร
9. สัญโญชนิยธัมมสูตร 10. อุปาทานิยธัมมสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 3. คหปติวรรค 1. เวสาลีสูตร

3. คหปติวรรค
หมวดว่าด้วยคหบดี
1. เวสาลีสูตร
ว่าด้วยคหบดีชาวเมืองเวสาลี

[124] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
เขตกรุงเวสาลี ครั้งนั้น อุคคคหบดีชาวเมืองเวสาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่
ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน อนึ่ง อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
ปรินิพพานในปัจจุบัน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยังเพลิดเพลิน เชยชม
ยึดติดรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดรูปนั้น วิญญาณที่อาศัย
ตัณหานั้น ความยึดมั่นตัณหานั้นก็มีอยู่ ภิกษุผู้ยังมีอุปาทาน (ความยึดมั่น) ย่อม
ไม่ปรินิพพาน ฯลฯ
รสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชัก
ให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุยังเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดธรรมารมณ์นั้น
อยู่ เมื่อเธอเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดธรรมารมณ์นั้นอยู่ วิญญาณที่อาศัยตัณหา
นั้น ความยึดมั่นตัณหานั้นก็มีอยู่ ภิกษุผู้ยังมีอุปาทานย่อมไม่ปรินิพพาน
คหบดี นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้ไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน
รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรูปนั้นอยู่ เมื่อ
เธอไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดรูปนั้น วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นก็ไม่มี
ความยึดมั่นตัณหานั้นก็ไม่มี ภิกษุผู้ไม่มีอุปาทานย่อมปรินิพพาน ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :150 }