เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต] 1. พุทธวรรค 2. วิภังคสูตร

‘ภิกษุทั้งหลาย ปฏิจจสมุปบาท เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
ชราและมรณะ เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมีหนัง
เหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของเหล่าสัตว์
นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา มรณะ เป็นอย่างไร คือ ความจุติ ความเคลื่อนไป ความ
ทำลายไป ความหายไป ความตายกล่าวคือมฤตยู การทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์
ความทอดทิ้งร่างกาย ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์นั้น ๆ จากหมู่สัตว์นั้น ๆ
นี้เรียกว่า มรณะ
ชราและมรณะ ดังพรรณนามาฉะนี้ เรียกว่า ชราและมรณะ
ชาติ เป็นอย่างไร
คือ ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งลง ความบังเกิดเฉพาะ ความ
บังเกิดขึ้นเฉพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะ ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของ
เหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชาติ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :4 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต] 1. พุทธวรรค 2. วิภังคสูตร

ภพ มีเท่าไร
ภพมี 3 ประการนี้ คือ
1. กามภพ (ภพที่เป็นกามาวจร)
2. รูปภพ (ภพที่เป็นรูปาวจร)
3. อรูปภพ (ภพที่เป็นอรูปาวจร)
นี้เรียกว่า ภพ
อุปาทาน มีเท่าไร
อุปาทานมี 4 ประการนี้ คือ
1. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม)
2. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิ)
3. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลพรต)
4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่ามีอัตตา)
นี้เรียกว่า อุปาทาน
ตัณหา มีเท่าไร
ตัณหามี 6 ประการนี้ คือ
1. รูปตัณหา (ความทะยานอยากได้รูป)
2. สัททตัณหา (ความทะยานอยากได้เสียง)
3. คันธตัณหา (ความทะยานอยากได้กลิ่น)
4. รสตัณหา (ความทะยานอยากได้รส)
5. โผฏฐัพพตัณหา (ความทะยานอยากได้โผฏฐัพพะ)
6. ธัมมตัณหา (ความทะยานอยากได้ธรรมารมณ์)
นี้เรียกว่า ตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :5 }