เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
2. อาหารวรรค 9. พาลปัณฑิตสูตร

9. พาลปัณฑิตสูตร
ว่าด้วยคนพาลและบัณฑิต

[19] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย กายของคนพาลนี้ ผู้ถูกอวิชชาขวางกั้น ประกอบด้วยตัณหา
เกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ กายและนามรูปภายนอกนี้1 มีอยู่ทั้ง 2 ส่วนอย่างนี้ เพราะ
อาศัยส่วนทั้ง 2 นั้น ผัสสะจึงมี คนพาลถูกผัสสายตนะ 6 หรืออายตนะอย่างใด
อย่างหนึ่งกระทบเข้า จึงเสวยสุขและทุกข์
กายของบัณฑิตนี้ ผู้ถูกอวิชชาขวางกั้น ประกอบด้วยตัณหา เกิดขึ้นแล้ว
อย่างนี้ กายและนามรูปภายนอกนี้ มีอยู่ทั้ง 2 ส่วนอย่างนี้ เพราะอาศัยส่วน
ทั้ง 2 นั้น ผัสสะจึงมี บัณฑิตถูกผัสสายตนะ 6 หรืออายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง
กระทบเข้า จึงเสวยสุขและทุกข์
ในชน 2 จำพวกนั้น มีอะไรเป็นความแปลกกัน เป็นความแตกต่างกัน
เป็นเหตุทำให้ต่างกัน ระหว่างบัณฑิตกับคนพาล
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก
มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส เฉพาะ
พระผู้มีพระภาคเท่านั้นที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้”
“ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
2. อาหารวรรค 9. พาลปัณฑิตสูตร

“กายของคนพาลนี้ ผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบด้วยตัณหาใด
เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้นแหละคนพาลยังละไม่ได้ และตัณหานั้นก็ยังไม่สิ้นไป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะคนพาลไม่ได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้น
เมื่อตายไป คนพาลจึงเข้าถึงกาย1 เมื่อยังมีการเข้าถึงกาย เขาจึงไม่พ้นไปจากชาติ
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราจึงกล่าวว่า ‘เขาไม่พ้น
จากทุกข์”
กายของบัณฑิต2นี้ ผู้ถูกอวิชชาใดหุ้มห่อแล้ว และประกอบด้วยตัณหาใด
เกิดขึ้นแล้ว อวิชชานั้นแหละบัณฑิตละได้แล้ว และตัณหานั้นก็หมดสิ้นไปแล้ว
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะบัณฑิตได้ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เพราะฉะนั้น
เมื่อตายไป บัณฑิตจึงไม่เข้าถึงกาย เมื่อไม่เข้าถึงกาย เขาจึงพ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราจึงกล่าวว่า ‘เขาพ้นจากทุกข์’
ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นความแปลกกัน นี้เป็นความแตกต่างกัน นี้เป็นเหตุทำให้
ต่างกัน ระหว่างบัณฑิตกับคนพาล กล่าวคือการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์”

พาลปัณฑิตสูตรที่ 9 จบ