เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [6. ลาภสักการสังยุต]
4. จตุตถวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค

10. “แม้เพราะเหตุแห่งพี่สาวน้องสาว” ...
สูตรที่ 10 จบ
11. “แม้เพราะเหตุแห่งบุตร” ...
สูตรที่ 11 จบ
12. “แม้เพราะเหตุแห่งธิดา” ...
สูตรที่ 12 จบ
13. “เรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะ
เหตุแห่งปชาบดี ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดเท็จ’ ต่อมา เราเห็นเขาถูกลาภสักการะและ
ความสรรเสริญครอบงำ ย่ำยีจิตแล้ว ก็พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นสิ่งทารุณ เผ็ดร้อน
หยาบคาย เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักละลาภสักการะและ
ความสรรเสริญที่เกิดขึ้น ลาภสักการะและความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่
ครอบงำจิตของเราทั้งหลายตั้งอยู่’ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้”

ปชาปติสูตรที่ 13 จบ
จตุตถวรรค จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ภินทิสูตร 2. กุสลมูลสูตร
3. กุสลธัมมสูตร 4. สุกกธัมมสูตร
5. อจิรปักกันตสูตร 6. ปัญจรถสตสูตร
7. มาตุสูต 8. ปิตุสูตร
9. ภาตุสูตร 10. ภคินิสูตร
11. ปุตตสูต 12. ธีตุสูตร
13. ปชาปติสูตร

ลาภสักการสังยุต จบบริบูรณ์


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [7.ราหุลสังยุต] 1. ปฐมวรรค 1. จักขุสูตร

7. ราหุลสังยุต

1. ปฐมวรรค
หมวดที่ 1

1. จักขุสูตร
ว่าด้วยจักษุ

[188] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดง
ธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะพึงหลีกออกไปอยู่คนเดียว
ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่เถิด”
“ราหุล เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุ(ตา) เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณา
เห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา”
“ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า”
“โสตะ(หู)เที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” ...
“ฆานะ(จมูก)เที่ยงหรือไม่เที่ยง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :289 }