เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [5. กัสสปสังยุต] 2. อโนตตัปปีสูตร

ตามได้ ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร เพราะเหตุแห่งจีวร ไม่ได้จีวรก็
ไม่กระวนกระวาย และได้จีวรแล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญา
เครื่องสลัดออก ใช้สอยอยู่
[พึงทำอย่างนี้ทุกบท]
เราทั้งหลายจักเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ฯลฯ จักเป็นผู้สันโดษ
ด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ฯลฯ จักเป็นผู้สันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมี
ตามได้ และกล่าวสรรเสริญความสันโดษด้วยคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามมีตามได้
ทั้งไม่ประกอบการแสวงหาผิดที่ไม่สมควร เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
ไม่ได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขารก็ไม่กระวนกระวาย และได้คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
แล้วก็ไม่ติดใจ ไม่หลง ไม่พัวพัน มองเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออก จักบริโภค
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล เราจักกล่าวสอนเธอทั้งหลาย
ตามกัสสปะ หรือผู้ใดพึงเป็นผู้เช่นกัสสปะ เราจักกล่าวสอนให้ประพฤติตามผู้นั้น
และเธอทั้งหลายผู้ได้รับโอวาทแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นเช่นนั้น”

สันตุฏฐสูตรที่ 1 จบ

2. อโนตตัปปีสูตร
ว่าด้วยความไม่สะดุ้งกลัว

[145] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะและท่านพระสารีบุตรอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหา
ท่านพระมหากัสสปะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันและกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า
“ท่านกัสสปะ ผมกล่าวว่า ภิกษุผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ไม่มีความ
สะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ
อย่างยอดเยี่ยม ส่วนภิกษุผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้
ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :234 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [5. กัสสปสังยุต] 2. อโนตตัปปีสูตร

ท่านพระมหากัสสปะถามว่า “ท่านผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียร
เครื่องเผากิเลส ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อนิพพาน
ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุเท่าไร และภิกษุ
ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อตรัสรู้ เพื่อ
นิพพาน เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุเท่าไร”
“ท่านผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า
‘บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแก่เรา พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ’ ไม่ทำ
ความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเรายังละ
ไม่ได้ พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ’ ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า ‘กุศล-
ธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดขึ้นแก่เรา พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ’ ไม่ทำความ
เพียรเครื่องเผากิเลส โดยคิดว่า ‘กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ พึงเป็นไป
เพื่อความพินาศ’
ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นอย่างนี้
ภิกษุชื่อว่าไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า ‘บาปอกุศลธรรมที่ยัง
ไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้น พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ’ ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า
‘บาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อเรายังละไม่ได้ พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ’
ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า ‘กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น พึงเป็นไป
เพื่อความพินาศ’ ไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า ‘กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อดับ
พึงเป็นไปเพื่อความพินาศ’
ภิกษุชื่อว่าไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควร
เพื่อตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะอย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :235 }