เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [4. อนมตัคคสังยุต]
1. ปฐมวรรค 8. คังคาสูตร

8. คังคาสูตร
ว่าด้วยแม่น้ำคงคา

[131] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ
ที่สมควร ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้วมากเท่าไรหนอ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า “พราหมณ์ กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้นไปแล้ว
มากนักหนา มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ 100 กัป เท่านี้
1,000 กัป หรือว่าเท่านี้ 100,000 กัป”
“พระองค์อาจอุปมาได้ไหม พระพุทธเจ้าข้า”
“อาจอุปมาได้ พราหมณ์ เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคานี้เริ่มต้นจากที่ใด และถึง
มหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระหว่างนี้ง่ายที่จะนับได้ว่า เท่านี้เม็ด เท่านี้
100 เม็ด เท่านี้ 1,000 เม็ด หรือว่าเท่านี้ 100,000 เม็ด กัปทั้งหลายที่ผ่านพ้น
ไปแล้วมากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น มิใช่เรื่องง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป
เท่านี้ 100 กัป เท่านี้ 1,000 กัป หรือว่าเท่านี้ 100,000 กัป
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลาย
ไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป
สัตว์เหล่านั้นก็เสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก ได้รับความพินาศเต็มป่าช้าเป็น
เวลายาวนาน
พราหมณ์ เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อ
หลุดพ้นจากสังขารทั้งปวง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ผู้นั้นได้กราบทูลว่า “ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม พระ
ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม จงทรงจำข้า
พระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”

คังคาสูตรที่ 8 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [4. อนมตัคคสังยุต]
1. ปฐมวรรค 10. ปุคคลสูตร

9. ทัณฑสูตร
ว่าด้วยท่อนไม้

[132] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มี
พระภาค ...
“ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น
ที่สุดเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียน
ท่องเที่ยวไป ฯลฯ
เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ บางคราวตกลงทางโคน
บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็
ฉันนั้น สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป
บางคราวจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น บางคราวก็จากโลกอื่นมาสู่โลกนี้
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น” ...

ทัณฑสูตรที่ 9 จบ

10. ปุคคลสูตร
ว่าด้วยบุคคล

[133] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สงสารมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ โครงกระดูก
ร่างกระดูก กองกระดูกของบุคคลคนหนึ่งผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปตลอด 1 กัป ถ้านำ
กระดูกนั้นนำมากองรวมกันได้ และกระดูกที่กองรวมกันไว้ ไม่สูญหายไป พึงใหญ่
เท่าภูเขาเวปุลละนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :223 }