เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
7. มหาวรรค 10. สุสิมปริพพาชกสูตร

เธอจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นพึงเสวยทุกข์และโทมนัส เพราะ
การกระทำความผิดนั้นบ้างหรือ”
“อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“สุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัส เพราะการกระทำความผิดนั้น
นับแต่การบวชของเธอผู้ขโมยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตกล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ ยังมี
ผลเป็นทุกข์และเผ็ดร้อนกว่าการเสวยทุกข์และโทมนัสนั้น ทั้งยังเป็นไปเพื่อวินิบาต
(ปราศจากความสุข) แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วแสดงคืนตาม
วิธีที่ถูกต้อง เรารับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วแสดงคืน
ตามวิธีที่ถูกต้อง ผู้นั้นจะได้สำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ”

สุสิมปริพพาชกสูตรที่ 10 จบ
มหาวรรคที่ 7 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อัสสุตวาสูตร 2. ทุติยอัสสุตวาสูตร
3. ปุตตมังสสูตร 4. อัตถิราคสูตร
5. นครสูตร 6. สัมมสสูตร
7. นฬกลาปิสูตร 8. โกสัมพิสูตร
9. อุปยันติสูตร 10. สุสิมปริพพาชกสูตร


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
8. สมณพราหมณวรรค 1. ชรามรณสูตร

8. สมณพราหมณวรรค
หมวดว่าด้วยสมณพราหมณ์

1. ชรามรณสูตร
ว่าด้วยชราและมรณะ

[71] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมา
ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่รู้ชัดชราและมรณะ
ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งชราและมรณะ ไม่รู้ชัดความดับแห่งชราและมรณะ ไม่รู้ชัด
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่จัดว่า
เป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่จัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้น
ก็ไม่ทำให้แจ้งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์
ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดชราและมรณะ ฯลฯ รู้ชัด
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จัดว่าเป็น
สมณะในหมู่สมณะ และจัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้นก็ทำให้
แจ้งประโยชน์ของความเป็นสมณะ และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ( สุตตันตะเป็นอย่างเดียว)

ชรามรณสูตรที่ 1 จบ