เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
7. มหาวรรค 10. สุสิมปริพพาชกสูตร

“สุสิมะ เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวแสดง
เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏก็ได้หรือให้หายไป
ก็ได้ ทะลุฝา ทะลุกำแพง (และ)ภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือ
ดำลงในแผ่นดินเหมือนไปในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยกเหมือนเดินบนแผ่นดิน
ก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไปในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์
ดวงอาทิตย์ อันมีฤทธิ์มากมีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลก
ก็ได้บ้างหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง 2 ชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์
ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยหูทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์บ้างหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้จิตของสัตว์และคนอื่นด้วยจิตของตน คือ
จิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ฯลฯ จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตไม่หลุดพ้นบ้างหรือ”1
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง ฯลฯ
ย่อมระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป และชีวประวัติอย่างนี้บ้าง
หรือ”2
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้ บ้างหรือ”3


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
7. มหาวรรค 10. สุสิมปริพพาชกสูตร

“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“เธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอารุปปวิโมกข์1อันสงบก้าวล่วงรูปทั้งหลาย
เสียได้ ด้วยนามกายอยู่บ้างหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
“สุสิมะ บัดนี้ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ เรื่องนี้
เป็นอย่างไรกันแน่”
ลำดับนั้น ท่านพระสุสิมะได้หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ตกถึงข้าพระองค์
เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ข้าพระองค์บวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่พระองค์
ตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงรับโทษของข้าพระองค์โดยความ
เป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า’
“สุสิมะ โทษได้ตกถึงเธอ เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา เธอบวชขโมยธรรม
ในธรรมวินัยที่เรากล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ เปรียบเหมือนราชบุรุษทั้งหลายจับโจรผู้
ประพฤติชั่วได้แล้ว จึงทูลแสดงแด่พระราชาว่า ‘ขอเดชะ ผู้นี้ประพฤติชั่วต่อ
พระองค์ ขอจงทรงลงพระอาญาตามที่ทรงพระประสงค์แก่โจรผู้นี้เถิด’ พระราชา
รับสั่งราชบุรุษผู้นั้นว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไปเอาเชือกที่เหนียวมัดบุรุษนี้ไพล่หลังให้แน่น
แล้วเอามีดโกนโกนศีรษะ แห่ประจานไปตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยลั่นฆ้อง
กลองนำออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณ(ทิศใต้) แล้วจงตัดศีรษะทางด้านทิศทักษิณ
ของตัวเมือง ราชบุรุษทั้งหลายก็เอาเชือกที่เหนียวมัดโจรผู้นั้นไพล่หลังให้แน่น
แล้วเอามีดโกนโกนศีรษะ แห่ประจานไปตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยลั่นฆ้องกลอง
นำออกไปทางประตูด้านทิศทักษิณ แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศทักษิณของตัวเมือง ฉะนั้น’