เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
6. ทุกขวรรค 9. วิญญาณสูตร

9. วิญญาณสูตร
ว่าด้วยวิญญาณ

[59] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ...
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นความพอใจเนือง ๆ ในธรรมทั้งหลายที่
เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์ วิญญาณย่อมหยั่งลง เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ขยายไปรอบ ๆ ฯลฯ อุปมานี้
ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นความพอใจเนือง ๆ ในธรรมทั้งหลาย
ที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์ วิญญาณย่อมหยั่งลง เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูป
จึงมี ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นโทษเนือง ๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์
วิญญาณย่อมไม่หยั่งลง เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่ง
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ (ยืนต้นอยู่อย่างนั้น) ทีนั้นบุรุษถือจอบ
และตะกร้าเดินมา ฯลฯ เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุ
พิจารณาเห็นโทษเนือง ๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งสังโยชน์ วิญญาณย่อม
ไม่หยั่งลง เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ ฯลฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้
มีได้ด้วยประการฉะนี้”

วิญญาณสูตรที่ 9 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
6. ทุกขวรรค 10. นิทานสูตร

10. นิทานสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นต้นเหตุ

[60] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อว่า
กัมมาสทัมมะ แคว้นกุรุ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างนั้น
ก็ปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนกับว่าเป็นธรรมง่าย ๆ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น อานนท์ อย่าพูดอย่างนั้น
ปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นธรรมลึกซึ้ง สุดจะคาดคะเนได้ ก็เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ
ไม่บรรลุธรรมนี้ หมู่สัตว์จึงยุ่ง เหมือนขอดด้ายของช่างหูก เป็นปมนุงนังเหมือน
กระจุกด้าย เหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ข้ามพ้นอบาย1 ทุคติ วินิบาต
สงสาร
เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นความพอใจเนือง ๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่ง
อุปาทาน ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทาน
เป็นปัจจัย ภพจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์
ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่มีรากหยั่งลงและแผ่ขยายไปรอบ ๆ รากทั้งหมดนั้น
ดูดอาหารขึ้นไปข้างบน เมื่อเป็นอย่างนี้ ต้นไม้ใหญ่นั้นได้อาหารอย่างนั้น ได้สารอย่างนั้น
พึงยืนต้นอยู่ได้ตลอดกาลนาน อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุพิจารณา
เห็นความพอใจเนือง ๆ ในธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งอุปาทาน ตัณหาย่อมเจริญ
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้