เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 8. อภยราชกุมารสูตร

“ราชกุมาร ตถาคตก็อย่างนั้นเหมือนกัน รู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าว
วาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็น
ที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ที่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย”

พุทธปฏิภาณ

[87] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็น
บัณฑิตก็ดี คหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วเข้ามา
เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหานั้น การตอบปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มี
พระภาคทรงตรึกด้วยพระหทัยก่อนว่า ‘บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาหาเราแล้วทูลถาม
ปัญหาอย่างนี้ เราเมื่อบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักตอบอย่างนี้’ หรือ
ว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระตถาคตโดยทันที”
“ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ ตถาคตจักถามพระองค์บ้าง ข้อนี้พระองค์
เห็นควรอย่างไร พระองค์พึงตอบอย่างนั้น พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น
ว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ มิใช่หรือ”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :88 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 8. อภยราชกุมารสูตร

“ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ชนทั้งหลายเข้า
ไปเฝ้าพระองค์แล้วทูลถามอย่างนี้ว่า ‘องค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถคันนี้ชื่ออะไร’
การตอบปัญหาของชนเหล่านั้น พระองค์ตรึกด้วยพระทัยก่อนว่า ‘ชนทั้งหลายเข้า
มาหาเราแล้วจักถามอย่างนี้ เราเมื่อถูกชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักตอบอย่างนี้’
หรือว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระองค์โดยทันที”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้จักรถเป็นอย่างดี
ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ องค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด
หม่อมฉันทราบดีแล้ว ฉะนั้นการตอบปัญหานั้นปรากฏแก่หม่อมฉันโดยทันที”
“ราชกุมาร กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี คหบดี
ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วจักเข้ามาหาตถาคต ถาม
ปัญหานั้น การตอบปัญหานั้นปรากฏแก่ตถาคตโดยทันทีเหมือนกัน ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะธรรมธาตุ1นั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว การตอบปัญหานั้นปรากฏ
แก่ตถาคตโดยทันที”

อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาค
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์
เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่
วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

อภยราชกุมารสูตรที่ 8 จบ