เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 8. อภยราชกุมารสูตร

ตรัสวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้
แล้วจะทรงตอบว่า ‘ราชกุมาร มีบ้างที่ตถาคตกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ
ของคนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชน เพราะปุถุชนก็กล่าววาจาอัน
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น’ ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้
แล้วจะทรงตอบอย่างนี้ว่า ‘ราชกุมาร ตถาคตไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็น
ที่ชอบใจของคนอื่น’
พระองค์พึงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็น
เช่นนั้น เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า ‘เทวทัตจักเกิดในอบาย
จักเกิดในนรก ดำรงอยู่สิ้น 1 กัป เป็นผู้ที่ใคร ๆ เยียวยาไม่ได้’ เพราะวาจาของ
พระองค์นั้น พระเทวทัตโกรธ เสียใจ’
พระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหา 2 เงื่อนนี้แล้วจะ
ทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก กระจับเหล็กติดอยู่ในลำคอของบุรุษ บุรุษนั้นไม่อาจ
กลืนเข้าไปได้ ไม่อาจคลายออก แม้ฉันใด พระสมณโคดมก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ถูกพระองค์ทูลถามปัญหา 2 เงื่อนนี้แล้วจะทรงกลืนไม่เข้า คายไม่ออก”

เกณฑ์ในการตรัสวาจาของพระพุทธเจ้า

[86] ขณะนั้นเอง กุมารน้อยยังนอนหงายอยู่บนพระเพลาของอภัยราชกุมาร
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอภัยราชกุมารว่า “ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัย
ความข้อนั้นว่าอย่างไร ถ้ากุมารน้อยนี้อาศัยความประมาทของพระองค์หรือของหญิง
พี่เลี้ยง พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ปาก พระองค์จะพึงปฏิบัติกับกุมารน้อยนั้นอย่างไร”
อภัยราชกุมารกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะนำออกเสีย
ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกแต่ทีแรกได้ หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะ
แล้วงอนิ้วมือขวา ล้วงเอาไม้หรือก้อนกรวดพร้อมด้วยเลือดออกเสีย ข้อนั้นเพราะ
เหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมารน้อย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :87 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 8. อภยราชกุมารสูตร

“ราชกุมาร ตถาคตก็อย่างนั้นเหมือนกัน รู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบ
ด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าว
วาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น
ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็น
ที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก
เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น
อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ที่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น
เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย”

พุทธปฏิภาณ

[87] “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้เป็น
บัณฑิตก็ดี คหบดีผู้เป็นบัณฑิตก็ดี สมณะผู้เป็นบัณฑิตก็ดี ตั้งปัญหาแล้วเข้ามา
เฝ้าพระตถาคต ทูลถามปัญหานั้น การตอบปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น พระผู้มี
พระภาคทรงตรึกด้วยพระหทัยก่อนว่า ‘บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาหาเราแล้วทูลถาม
ปัญหาอย่างนี้ เราเมื่อบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักตอบอย่างนี้’ หรือ
ว่าคำตอบนั้นปรากฏแก่พระตถาคตโดยทันที”
“ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้ ตถาคตจักถามพระองค์บ้าง ข้อนี้พระองค์
เห็นควรอย่างไร พระองค์พึงตอบอย่างนั้น พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น
ว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ มิใช่หรือ”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ชำนาญในองค์ประกอบน้อยใหญ่ของรถ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :88 }