เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 10. สังคารวสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“ภารทวาชะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้
มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 2 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน
ได้ปรากฏแก่เรา
[479] 3. เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษ
นำมาทำเป็นไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ภารทวาชะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่
บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ”
“ภารทวาชะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกาย
และจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาดในภายในแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :606 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 10. สังคารวสูตร

แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร
ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 3 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน
ได้ปรากฏแก่เรา
ภารทวาชะ นี้คือ อุปมาทั้ง 3 ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่งซึ่งเรายังไม่เคยได้ยิน
มาก่อนนี้แล ได้ปรากฏแก่เรา

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

[480] ภารทวาชะ เรานั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ เรานั้นก็กดฟันด้วยฟัน
ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อเราทำดังนั้น เหงื่อก็
ไหลออกจากรักแร้ทั้ง 2 ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ
แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้น
ดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง
2 ข้าง
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
[481] ภารทวาชะ เราจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ เราก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปากและ
ทางจมูก เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและทางจมูก
ลมก็ออกทางหูทั้ง 2 ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ แม้ฉันใด
เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและทางจมูก ลมก็ออกทาง
หูทั้ง 2 ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :607 }