เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 10. สังคารวสูตร

อุปมา 3 ข้อ

ภารทวาชะ ครั้งนั้น อุปมา 3 ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ได้ปรากฏแก่เรา คือ
1. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟ
ด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ภารทวาชะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งแช่อยู่
ในน้ำมาทำไม้สีไฟแล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรษนั้นก็มีแต่
ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“ภารทวาชะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหายและความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเบ็ดเสร็จในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 1 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้
ปรากฏแก่เรา
[478] 2. เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้
นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ภารทวาชะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้สดที่มียางซึ่งวางอยู่
บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :605 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 10. สังคารวสูตร

“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ
บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“ภารทวาชะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งแม้
มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเด็ดขาดในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนาที่
กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 2 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน
ได้ปรากฏแก่เรา
[479] 3. เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษ
นำมาทำเป็นไม้สีไฟ ด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ภารทวาชะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่
บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ”
“ภารทวาชะ อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกาย
และจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาดในภายในแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :606 }