เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 8. วาเสฏฐสูตร

พราหมณ์ในพระพุทธศาสนา

[456] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยคาถาว่า
“วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร
แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลายตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์
เธอทั้งหลายรู้จักหญ้าและต้นไม้
แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้
หญ้าและต้นไม้เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด
เพราะธรรมชาติของพวกมันต่างกัน
ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลงคือตั๊กแตน
ตลอดจนถึงพวกมดดำ มดแดง
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน
เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ 4 เท้าทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน
เธอทั้งหลายจงรู้จักพวกสัตว์เลื้อยคลาน
ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน
ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา และสัตว์น้ำ
ประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน
ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของพวกมันต่างกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :575 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 8. วาเสฏฐสูตร

รูปร่างสัณฐานของพวกสัตว์เหล่านี้
ต่างกันตามกำเนิดมากมาย ฉันใด
แต่ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกัน
ไปตามกำเนิดมากมาย ฉันนั้น
คือ ผมก็ไม่แตกต่างกัน
ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก
คิ้ว คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก ซอกอวัยวะ
อวัยวะสืบพันธุ์ มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน
ผิวพรรณ หรือเสียงก็ไม่แตกต่างกัน
ในหมู่มนุษย์ จึงไม่มีรูปร่างสัณฐานตามกำเนิด
แตกต่างกันมากมายเหมือนในกำเนิดอื่น ๆ เลย
[457] ในหมู่มนุษย์ ในสรีระของแต่ละคน
ไม่มีความแตกต่างกันเฉพาะตัว
การเรียกกันในหมู่มนุษย์ เขาเรียกตามบัญญัติ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ
ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์’
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยศิลปะหลายอย่าง
ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลปะ ไม่เรียกว่า พราหมณ์’
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ
ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์’
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
‘ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้คนอื่น
ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :576 }