เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
“ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสตอบว่า ‘มโนกรรม’ หรือ”
“ใช่ เราตอบว่า ‘มโนกรรม”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในพระดำรัสนี้ถึง 3 ครั้ง
ด้วยประการอย่างนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์ นาฏบุตรถึงที่อยู่

อุบาลีอาสาโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า

[58] สมัยนั้น นิครนถ์ นาฏบุตรนั่งอยู่กับบริษัทคฤหัสถ์เป็นจำนวนมาก
ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านพาลกะ มีคหบดีชื่ออุบาลีเป็นหัวหน้า ได้เห็นนิครนถ์ชื่อทีฆ-
ตปัสสีเดินมาแต่ไกล จึงทักทายว่า “ตปัสสี เชิญทางนี้ ท่านมาจากไหนแต่วันเชียว”
ทีฆตปัสสีตอบว่า “ผมมาจากสำนักของพระสมณโคดมนี้เอง ขอรับ”
“ท่านได้สนทนาปราศรัยกับพระสมณโคดมบ้างหรือไม่”
“ก็ได้สนทนาปราศรัยบ้าง ขอรับ”
“สนทนาปราศรัยกันถึงเรื่องอะไรเล่า”
จากนั้น นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้เล่าเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ให้นิครนถ์ นาฏบุตรฟังทั้งหมด เมื่อนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีเล่าจบ นิครนถ์ นาฏบุตร
จึงกล่าวว่า
“ดีละ ดีละ ตปัสสี การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรง
ตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะ
อันต่ำทรามจะดีงามได้อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการ
ทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ
หรือมโนทัณฑะเลย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :56 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

[59] เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาลีคหบดีได้กล่าวกับนิครนถ์
นาฏบุตรว่า “ดีละ ดีละ ท่านผู้เจริญ ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงดีแล้ว ถูกต้องแล้ว
การที่ท่านทีฆตปัสสีชี้แจงให้พระสมณโคดมฟังนั้น ตรงตามที่สาวกผู้ได้ศึกษาจนรู้
ทั่วถึงคำสอนของศาสดาอย่างถูกต้องชี้แจงไว้ มโนทัณฑะอันต่ำทรามจะดีงามได้
อย่างไร เมื่อเทียบกับกายทัณฑะที่สำคัญเช่นนี้ แท้จริงในการทำกรรมชั่ว ในการ
ประพฤติกรรมชั่ว กายทัณฑะเท่านั้นย่อมมีโทษมากกว่า มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโน-
ทัณฑะเลย
ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไปโต้วาทะในเรื่องนี้กับพระสมณโคดมเอง
ถ้าพระสมณโคดมจักยืนยัน เหมือนอย่างที่ท่านตปัสสียืนยันไว้อย่างนั้น ข้าพเจ้าจัก
พูดตะล่อมวกไปวกมาหว่านล้อมให้งง เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงจับขนแกะที่มีขน
ยาวฉุดดึงไปดึงมาหมุนจนงง หรือเปรียบเหมือนชายฉกรรจ์ผู้เป็นกรรมกรในโรงงาน
สุรา ทิ้งกระสอบที่มีส่วนผสมสุราใบใหญ่ลงในบ่อหมักส่าที่ลึก แล้วจับที่มุมส่ายไป
ส่ายมาสลัดออก ข้าพเจ้าจักขจัด บด ขยี้ซึ่งวาทะของพระสมณโคดมด้วยวาทะ
เหมือนคนที่แข็งแรงเป็นนักเลงสุรา จับไหสุราคว่ำลง หงายขึ้น เขย่าจนน้ำสุรา
สะเด็ด หรือข้าพเจ้าจักเล่นกีฬาซักป่านกับพระสมณโคดม เหมือนช้างแก่อายุ 60 ปี
ลงไปยังสระลึกเล่นกีฬาซักป่าน
ท่านผู้เจริญ เอาเถิด ข้าพเจ้าจะไป จักโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระ
สมณโคดมเอง”
“คหบดี ท่านจงไป จงโต้วาทะในเรื่องที่พูดกันนี้กับพระสมณโคดม แท้จริง
เราก็ได้ ทีฆตปัสสีก็ได้ หรือท่านก็ได้ ควรโต้วาทะกับพระสมณโคดม”
[60] เมื่อนิครนถ์ นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีได้กล่าว
กับนิครนถ์ นาฏบุตรว่า “ท่านผู้เจริญ การที่อุบาลีคหบดีจะพึงโต้วาทะกับพระ
สมณโคดมนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบใจเลย เพราะพระสมณโคดมเป็นคนมีมารยา รู้มายา
เป็นเครื่องกลับใจพวกสาวกของอัญเดียรถีย์ได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :57 }