เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 6. เอสุการีสูตร

ไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นเท่านั้นหรือ เป็นไฟมีเปลว มีสี
มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ ส่วนไฟที่บุรษทั้งหลาย
ผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูล
คนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือไม้ละหุ่งมาทำเป็นไม้
สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น เป็นไฟไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสงสว่าง และไม่สามารถ
ทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้กระนั้นหรือ”
เอสุการีพราหมณ์กราบทูลว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม แม้ไฟที่บุรุษ
ทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลกษัตริย์ ตระกูลพราหมณ์ ราชตระกูล ถือเอาไม้สัก ไม้สาละ
ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็น
ไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟนั้นให้สำเร็จได้ แม้ไฟ
ที่บุรุษทั้งหลายผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างจักสาน
ตระกูลช่างรถ ตระกูลคนขนขยะ ถือเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า
หรือไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้ไฟลุกโพลงขึ้นนั้น ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี
มีแสงสว่าง และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้
ท่านพระโคดม ความจริงแม้ไฟทุกชนิด ก็เป็นไฟมีเปลว มีสี มีแสงสว่าง
และสามารถทำกิจที่ต้องทำด้วยไฟให้สำเร็จได้ทั้งหมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ อย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าแม้บุคคลออกจาก
ตระกูลกษัตริย์บวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากพฤติกรรมอันเป็น
ข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาด
จากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ฯลฯ
ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :556 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 7. ธนัญชานิสูตร

ถ้าแม้กุลบุตรออกจากตระกูลศูทรบวชเป็นบรรพชิต และเขาอาศัยธรรมวินัยที่
ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาด
จากพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจาก
การพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่ง
เล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น มีจิตไม่พยาบาท เป็นสัมมาทิฏฐิ ยินดีกุศลธรรมอันเป็น
เครื่องนำออกจากทุกข์ได้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่าน
พระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต” ดังนี้แล

เอสุการีสูตรที่ 6 จบ

7. ธนัญชานิสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อธนัญชานิ

[445] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต
เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท
พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ ได้เข้าไป
หาท่านพระสารีบุตรถึงทักขิณาคีรีชนบท ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่
ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระสารีบุตรได้ถามภิกษุนั้นว่า “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีภาคไม่ทรงประชวร
และยังทรงมีพระกำลังอยู่หรือ”
ภิกษุนั้นกล่าวตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประชวร และยัง
ทรงมีพระกำลังอยู่ ขอรับ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :557 }