เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 6. เอสุการีสูตร

พราหมณ์ เราไม่กล่าวว่า ‘บุคคลต้องบำเรอสิ่งทั้งปวง’ แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่า
‘บุคคลไม่ต้องบำเรอสิ่งทั้งปวง’ เพราะว่า เมื่อบุคคลบำเรอสิ่งใดอยู่ ศรัทธา ศีล สุตะ
จาคะ ปัญญาย่อมเจริญ เพราะเหตุแห่งการบำเรอ เราจึงกล่าวว่า ‘บุคคลต้องบำเรอ
สิ่งนั้น”

ทรัพย์ 4 ชนิด

[440] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เอสุการีพราหมณ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ 4 ชนิด คือ

1. บัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์ 2. บัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์
3. บัญญัติทรัพย์ของแพศย์ 4. บัญญัติทรัพย์ของศูทร

ในทรัพย์ 4 ชนิดนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์คือการ
เที่ยวไปเพื่ออาหาร แต่พราหมณ์เมื่อดูหมิ่นทรัพย์คือการเที่ยวไปเพื่ออาหาร ชื่อว่า
เป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้ พราหมณ์
ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของพราหมณ์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์คือแล่งธนู แต่กษัตริย์เมื่อดูหมิ่น
ทรัพย์คือแล่งธนู ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของกษัตริย์ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของแพศย์คือกสิกรรมและโครักขกรรม แต่แพศย์
เมื่อดูหมิ่นทรัพย์คือกสิกรรมและโครักขกรรม ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือน
คนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของแพศย์
ไว้เช่นนี้แล
พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของศูทรคือเคียวและไม้คาน แต่ศูทรเมื่อดูหมิ่น
ทรัพย์คือเคียวและไม้คาน ชื่อว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ผิด เปรียบเหมือนคนเลี้ยงโคถือเอาสิ่งของ
ที่เจ้าของมิได้ให้ ฉะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ของศูทรไว้เช่นนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :551 }