เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 5. จังกีสูตร

ตรัสตอบถึงธรรมมีอุปการะมาก

[434] กาปทิกมาณพทูลถามว่า “ท่านพระโคดม การบรรลุสัจจะย่อมมีได้
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ และเรา
ทั้งหลายย่อมหวังการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้หรือ ธรรมมีอุปการะมาก
แก่การบรรลุสัจจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะ
มากแก่การบรรลุสัจจะ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภารทวาชะ ความเพียรมีอุปการะมากแก่
การบรรลุสัจจะ ถ้าบุคคลไม่ตั้งความเพียรนั้นไว้ ก็จะไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะ
เขาตั้งความเพียรไว้จึงบรรลุสัจจะได้ ฉะนั้น ความเพียรจึงมีอุปการะมากแก่การ
บรรลุสัจจะ”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียรเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน
พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร พระพุทธเจ้าข้า”
“ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าบุคคลไม่พิจารณาปัญญา
เครื่องพิจารณานั้นก็จะพึงตั้งความเพียรนี้ไว้ไม่ได้ แต่เพราะเขาพิจารณาจึงตั้งความเพียร
ไว้ได้ ฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาจึงมีอุปการะมากแก่ความเพียร”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณาเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูล
ถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา พระพุทธเจ้าข้า”
“ความอุตสาหะมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าบุคคลไม่อุตสาหะ
ก็จะพึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะเขาอุตสาหะจึงพิจารณาได้ ฉะนั้น ความอุตสาหะจึง
มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่าน
พระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :543 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 5. จังกีสูตร

“ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด บุคคลก็จะไม่พึง
อุตสาหะ แต่เพราะฉันทะเกิด เขาจึงอุตสาหะ ฉะนั้น ฉันทะจึงมีอุปการะมากแก่
ความอุตสาหะ”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะเป็นอย่างไร ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดม
ถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ พระพุทธเจ้าข้า”
“ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรม
ทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่งพินิจ ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การ
เพ่งพินิจ ฉันทะจึงเกิด ฉะนั้น ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมจึงมีอุปการะมาก
แก่ฉันทะ”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจแห่งธรรมเป็นอย่างไร
ข้าพระองค์ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจ
แห่งธรรม พระพุทธเจ้าข้า”
“ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การ
เพ่งพินิจแห่งธรรม ถ้าบุคคลไม่ไตร่ตรองเนื้อความ ธรรมทั้งหลายก็จะไม่พึงควรแก่
การเพ่งพินิจ แต่เพราะเขาไตร่ตรองเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่งพินิจ
ฉะนั้น ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความจึงมีอุปการะมากแก่ความควรแก่การเพ่งพินิจ
แห่งธรรม”
“ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความเป็นอย่างไร ข้าพระองค์
ขอทูลถามท่านพระโคดมถึงธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความ
พระพุทธเจ้าข้า”
“การทรงจำธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องไตร่ตรองเนื้อความ ถ้าบุคคล
ไม่ทรงจำธรรมนั้น ก็จะพึงไตร่ตรองเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะเขาทรงจำธรรมไว้ได้
จึงไตร่ตรองเนื้อความได้ ฉะนั้น การทรงจำธรรมจึงมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่อง
ไตร่ตรองเนื้อความ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :544 }