เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

ที่สมควร ภิกษุทั้งหลายฉันเฉพาะอาหารที่ไม่มีโทษ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิต
ของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มี
พระภาค พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำ
ข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล

ชีวกสูตรที่ 5 จบ

6. อุปาลิวาทสูตร
ว่าด้วยวาทะของคหบดีชื่ออุบาลี

[56] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขตเมืองนาลันทา
สมัยนั้นแล นิครนถ์ นาฏบุตรพร้อมกับบริษัทนิครนถ์เป็นจำนวนมาก อาศัยอยู่ที่
เมืองนาลันทา ต่อมา นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสี1 ออกเที่ยวหาอาหารในเมืองนาลันทา
กลับจากเที่ยวหาอาหารภายหลังเวลาอาหารแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงปาวาริกัมพวัน ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีซึ่งยืนอยู่
ที่นั้นแลว่า “ตปัสสี ที่นั่งมีอยู่ ถ้าท่านประสงค์ ก็จงนั่งเถิด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควร ที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 6. อุปาลิวาทสูตร

เปรียบเทียบทัณฑะ 3 กับกรรม 3

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามนิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีว่า “ตปัสสี นิครนถ์ นาฏบุตร
บัญญัติกรรมในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่วไว้เท่าไร”
นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสีทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม นิครนถ์ นาฏบุตรมิได้บัญญัติ
เป็นอาจิณว่า ‘กรรม กรรม’ แต่บัญญัติเป็นอาจิณว่า ‘ทัณฑะ ทัณฑะ’
“ตปัสสี นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติ
กรรมชั่วไว้เท่าไร”
“ท่านพระโคดม นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะในการทำกรรมชั่ว ในการ
ประพฤติกรรมชั่วไว้ 3 ประการ คือ (1) กายทัณฑะ (2) วจีทัณฑะ (3) มโนทัณฑะ”
“ตปัสสี กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่งหรือ”
“ท่านพระโคดม กายทัณฑะก็อย่างหนึ่ง วจีทัณฑะก็อย่างหนึ่ง มโนทัณฑะ
ก็อย่างหนึ่ง”
“ตปัสสี บรรดาทัณฑะทั้ง 3 ประการนี้ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้ คือ
(1) กายทัณฑะ (2) วจีทัณฑะ (3) มโนทัณฑะ นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติทัณฑะ
ไหนว่ามีโทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการประพฤติกรรมชั่ว”
“ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง 3 ประการ ที่จำแนกแยกเป็นอย่างนี้
นิครนถ์ นาฏบุตรบัญญัติกายทัณฑะว่ามีโทษมากกว่ากัน ในการทำกรรมชั่ว ในการ
ประพฤติกรรมชั่ว มิใช่วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ”
“ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ”
“ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ”
“ตปัสสี ท่านตอบว่า ‘กายทัณฑะ’ หรือ”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ทูลตอบว่า ‘กายทัณฑะ”
พระผู้มีพระภาคทรงให้นิครนถ์ชื่อทีฆตปัสสียืนยันคำพูดนี้ถึง 3 ครั้ง ด้วยประการ
อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :54 }