เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 5. ชีวกสูตร

การแผ่กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

[54] “ชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่
เธอมีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 อยู่ ทิศที่ 2 ...
ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่
เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ด้วยประการอย่างนี้ คหบดีหรือบุตรคหบดีเข้าไปหาเธอ
แล้วนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุต้องการจึงรับนิมนต์ เมื่อล่วงราตรี
นั้นไป ในเวลาเช้า เธอครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปยังที่อยู่ของคหบดีหรือ
บุตรคหบดี นั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว คหบดีหรือบุตรคหบดีอังคาสเธอด้วย
บิณฑบาตอันประณีต เธอไม่คิดอย่างนี้ว่า ‘ดีจริง คหบดีหรือบุตรคหบดีนี้พึงอังคาส
เราด้วยบิณฑบาตอันประณีต’ ทั้งไม่คิดอย่างนี้ว่า ‘ทำอย่างไรหนอ คหบดีหรือบุตร
คหบดีจึงจะอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีต เช่นนี้ตลอดไป’ เธอไม่กำหนัด ไม่ยินดี
ไม่รีบฉันบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องสลัดออกจากทุกข์ ฉันอยู่
ชีวก เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียน
ตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่”
“ไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
“ในคราวนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าฉันอาหารอันไม่มีโทษเลย ใช่หรือไม่”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินมาแล้วว่า
‘พรหมมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา’ คำกล่าวที่เพียงได้ยินมานี้ข้าพระองค์เห็นว่าพระผู้มี
พระภาคทรงเป็นพยานได้ เพราะพระผู้มีพระภาคเองก็ทรงมีปกติอยู่ด้วยอุเบกขา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ชีวก บุคคลจะพึงมีความเบียดเบียน มีความไม่ยินดี
มีความกระทบกระทั่ง เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคต
ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้วเหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :51 }