เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 2. เสลสูตร

ดาวนักษัตรทั้งหลาย มีดวงจันทร์เด่นสกาว
มวลความร้อนมีดวงอาทิตย์เป็นเจ้า
หมู่ชนผู้มุ่งแสวงบุญอยู่มีพระสงฆ์เท่านั้น
เป็นทางเจริญแห่งบุญแท้จริงของผู้บูชา”
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงทำอนุโมทนาแก่เกณิยชฎิลด้วยพระคาถาเหล่านี้แล้ว
ก็เสด็จลุกจากพุทธอาสน์จากไป
ต่อมา ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร จากไปอยู่เพียงลำพัง ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็น
ที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบันแน่แท้ รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป1”
จึงเป็นอันว่า ท่านพระเสละพร้อมกับภิกษุผู้เป็นบริวารได้เป็นพระอรหันต์
จำนวนหนึ่งบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ครั้งนั้น ท่านพระเสละพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลด้วยคาถาว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้มีพระจักษุ
ข้าพระองค์ทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะครบ 8 วันนับจากวันนี้
จึงเป็นอันว่าข้าพระองค์ทั้งหลายฝึกฝนตนสำเร็จ
ในศาสนาของพระองค์ใช้เวลา 7 วันเท่านั้น
พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นพระศาสดา
เป็นพระมุนีผู้ครอบงำมารได้


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 3. อัสสลายนสูตร

ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
ยังทรงช่วยหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามตามไปได้ด้วย
พระองค์ทรงล่วงพ้นอุปธิได้
ทำลายอาสวะได้แล้ว ไม่มีอุปาทาน
ละความหวาดกลัวภัยได้
เหมือนพญาราชสีห์ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ”
ภิกษุ 300 รูปนี้ ยืนประนมมืออยู่ กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ขอพระองค์โปรดเหยียดพระยุคลบาทออกเถิด
ขอเชิญท่านผู้ประเสริฐทั้งหลาย
ถวายอภิวาทพระบรมศาสดาเถิด” ดังนี้แล

เสลสูตรที่ 2 จบ

3. อัสสลายนสูตร
ว่าด้วยอัสสลายนมาณพ

[401] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่าง ๆ ประมาณ
500 คน พักอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้น
ได้คิดว่า “พระสมณโคดมนี้ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ที่ทั่วไปแก่วรรณะ 4 จำพวก
ใครหนอจะสามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :501 }