เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 1. พรหมายุสูตร

4. ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง
5. เสวยเพื่อดำรงพระวรกายนี้ไว้
6. เสวยเพื่อยังพระชนม์ให้เป็นไปได้
7. เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก
8. เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์พรหมจรรย์
ด้วยทรงพระดำริว่า ‘เพียงเท่านี้ก็จักกำจัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ร่างกายของเราจักดำเนินไปสะดวก ไม่มีโทษ และอยู่สำราญ’ ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เมื่อจะทรงรับน้ำล้างบาตรไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรง
ลดบาตรลงรับ ไม่ทรงยื่นบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตร
ไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุก ๆ ไม่ทรงล้างบาตรด้วยวิธีหมุน
ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์ เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ก็เป็นอันทรงล้าง
บาตร เมื่อทรงล้างบาตรก็เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์ ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก
ไม่ใกล้นัก ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ให้น้ำกระเซ็น เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรง
วางบาตรที่พื้น ทรงวางไว้ในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้
จะตามรักษาบาตรตลอดก็หามิได้ เสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่
ทรงปล่อยเวลาอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียน
ภัตรนั้น ไม่ทรงมุ่งหวังภัตรอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไป
ปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
พระองค์เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เสด็จไป ก็ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่เสด็จช้านัก
ไม่ผลุนผลันเสด็จไป ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติด
พระวรกายเกินไป และไม่ทรงจีวรหลุดลุ่ยจากพระวรกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้
ทั้งฝุ่นละอองไม่ติดพระวรกาย เสด็จถึงพระอารามแล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงใส่พระทัยเพื่อประดับตกแต่งพระบาทอยู่ ทรงล้างพระบาท
แล้วประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระวรกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริ
เพื่อเบียดเบียนพระองค์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :480 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [5. พราหมณวรรค] 1. พรหมายุสูตร

ทั้งสองฝ่าย ประทับนั่งทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์
แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวงเท่านั้น
ประทับอยู่ในอาราม ก็ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยกย่องบริษัท ไม่ทรงรุกราน
บริษัท โดยที่แท้ ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว
ท่านพระโคดมพระองค์นั้นทรงมีพระสุรเสียงกึกก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์
ประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ

1. นุ่มนวล 2. ฟังชัดเจน
3. ไพเราะ 4. ฟังง่าย
5. กลมกล่อม 6. ไม่พร่า
7. ลุ่มลึก 8. มีกังวาน

พระสุรเสียงที่พระองค์ทรงสอนบริษัทให้เข้าใจมิได้ก้องออกไปนอกบริษัทนั้น
ชนทั้งหลายที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจาก
ที่นั่งจากไปยังเหลียวดูโดยไม่อยากจากไป ต่างรำพึงว่า ‘เราได้เห็นท่านพระโคดม
พระองค์นั้นทรงดำเนิน ประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน ประทับนั่งนิ่งในละแวกบ้าน
กำลังเสวยพระกระยาหารในละแวกบ้าน เสวยเสร็จแล้วก็ประทับนั่งนิ่ง เสวยเสร็จแล้ว
ทรงอนุโมทนา เสด็จกลับมายังพระอาราม เสด็จมาถึงพระอารามแล้วประทับนิ่งอยู่
ประทับอยู่ในพระอารามแล้ว ทรงแสดงธรรมในบริษัท ท่านพระโคดมพระองค์นั้น
ทรงพระคุณเช่นนี้ ๆ และทรงพระคุณยิ่งกว่าที่กล่าวแล้วนั้น”
[388] เมื่ออุตตรมาณพกล่าวอย่างนี้แล้ว พรหมายุพราหมณ์ลุกจากที่นั่ง
ห่มผ้าเฉวียงบ่า ประนมมือไปทางทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วเปล่งอุทาน
ขึ้น 3 ครั้งว่า
“ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :481 }