เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 9. ธัมมเจติยสูตร

เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา กษัตริย์
เหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา ก็ไม่ทูลถามปัญหา
กับพระผู้มีพระภาคอีก ที่ไหนจักโต้วาทะกับพระองค์ได้เล่า โดยที่แท้ก็พากันยอมตน
เข้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรมของ
พระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม
อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[372] อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต ฯลฯ
คหบดีผู้เป็นบัณฑิต ฯลฯ สมณะผู้เป็นบัณฑิตบางพวกในโลกนี้ มีปัญญาละเอียด
อ่อน โต้วาทะกันคนอื่นได้ สามารถนับขนทรายได้ สมณะเหล่านั้นเหมือนดั่งเที่ยว
ทำลายทิฏฐิของผู้อื่นด้วยปัญญา พอได้ฟังข่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า
พระสมณโคดมจักเสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมชื่อโน้น’ สมณะเหล่านั้นก็พากันแต่ง
ปัญหา ด้วยตั้งใจว่า ‘เราทั้งหลายจักพากันเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหานี้
ถ้าพระโคดมถูกเราทั้งหลายถามแล้วอย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ เราทั้งหลาย
จักโต้วาทะอย่างนี้กับพระสมณโคดม ถ้าแม้พระสมณโคดมถูกเราทั้งหลายถามแล้ว
อย่างนี้ จักตรัสตอบอย่างนี้ เราทั้งหลายจักโต้วาทะอย่างนี้กับพระสมณโคดม’
สมณะเหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า พระสมณโคดม
เสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมโน้น’ แล้วก็พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สมณะเหล่านั้นเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ
เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถา สมณะ
เหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจ
ให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง ด้วยธรรมีกถาก็ไม่ทูลถาม
ปัญหากับพระผู้มีพระภาคอีก ที่ไหนจักโต้วาทะกับพระองค์ได้เล่า โดยที่แท้ก็ขอโอกาส
เพื่อออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตกับพระผู้มีพระภาค

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :456 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 9. ธัมมเจติยสูตร

พระผู้มีพระภาคก็ทรงให้พวกเขาบวช พวกเขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ก็หลีกไปอยู่
ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่ง
ประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวช
เป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน พวกเขา
พากันกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายไม่พินาศละซิหนอ ท่านผู้เจริญ เราทั้งหลาย
ไม่พินาศละซิหนอ ท่านผู้เจริญ ด้วยว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลายไม่ได้เป็นสมณะเลย
ก็ปฏิญญาว่า ‘เป็นสมณะ’ ไม่ได้เป็นพราหมณ์เลยก็ปฏิญญาว่า ‘เป็นพราหมณ์’
ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลยก็ปฏิญญาว่า ‘เป็นพระอรหันต์’ บัดนี้ เราทั้งหลายเป็น
สมณะ เป็นพราหมณ์ เป็นพระอรหันต์’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้เองที่หม่อมฉันมีความเห็นคล้อยตามธรรม
ในพระผู้มีพระภาคว่า ‘พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ พระธรรม
อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว’
[373] อีกประการหนึ่ง ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ และช่างไม้ชื่อปุราณะเหล่านี้
กินอยู่กับหม่อมฉัน ใช้ยวดยานของหม่อมฉัน หม่อมฉันให้เครื่องเลี้ยงชีพแก่เขา
ตั้งยศให้เขา แต่ถึงกระนั้น พวกเขาจะทำความเคารพนบนอบในหม่อมฉันเหมือน
ในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่
เรื่องเคยมีมาแล้ว หม่อมฉันยกกองทัพออกไป เมื่อจะทดลองช่างไม้ชื่อ
อิสิทันตะ และช่างไม้ชื่อปุราณะเหล่านี้ จึงเข้าพักในที่พักอันแคบแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นแล
ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะและช่างไม้ชื่อปุราณะ เหล่านี้ใช้เวลาให้หมดไปด้วยการสนทนา
ธรรมีกถาตลอดราตรีเป็นส่วนใหญ่ ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทางทิศใด
พวกเขาก็หันศีรษะไปทางทิศนั้น นอนเหยียดเท้ามาทางหม่อมฉัน หม่อมฉันนั้นได้
ดำริว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ช่างไม้ชื่ออิสิทันตะ
และช่างไม้ชื่อปุราณะเหล่านี้กินอยู่กับเรา ใช้ยวดยานของเรา เราให้เครื่องเลี้ยงชีพ
แก่พวกเขา ตั้งยศให้พวกเขา แต่ถึงกระนั้น พวกเขาจะได้ทำความเคารพนบนอบ
ในเรา เหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่ ทั้ง 2 คนนี้คงจะรู้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไป
กว่าเดิม ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นแน่’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :457 }