เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 7. ปิยชาติกสูตร

เมื่อพระสมณโคดมตรัสอย่างนี้แล้ว ข้าพเจ้าได้กราบทูลพระสมณโคดมว่า ‘ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ทำไมอินทรีย์ของข้าพระองค์จะไม่หมองคล้ำไปเล่า เพราะลูกชาย
คนเดียวซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของข้าพระองค์ได้เสียชีวิตลง เพราะการเสียชีวิต
ของลูกชายคนเดียวนั้น การงานก็ไม่เป็นอันทำ อาหารก็ไม่เป็นอันกิน ข้าพระองค์ไป
ป่าช้าคร่ำครวญถึงลูกชายนั้นว่า ‘ลูกโทน เจ้าอยู่ที่ไหน ลูกโทน เจ้าอยู่ที่ไหน’
พระสมณโคดมได้ตรัสว่า ‘ข้อนี้เป็นอย่างนั้น คหบดี ข้อนี้เป็นอย่างนั้น คหบดี
เพราะว่าโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก มีมาจาก
สิ่งอันเป็นที่รัก’
ข้าพเจ้าได้กราบทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาส เกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก มีมาจากสิ่งอันเป็นที่รักนั้น จักเป็นอย่างนั้นไป
ได้อย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ความยินดีและโสมนัส เกิดจากสิ่งอันเป็น
ที่รัก มีมาจากสิ่งอันเป็นที่รักนั้นต่างหาก’
พ่อมหาจำเริญ จากนั้น ข้าพเจ้าไม่ยินดีไม่คัดค้านพระภาษิตของพระสมณโคดม
ลุกจากที่นั่งแล้วจากมา”
นักเลงสะกาเหล่านั้นได้พูดเสริมว่า “ข้อนี้เป็นอย่างนั้น คหบดี ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น คหบดี เพราะความยินดีและโสมนัส ย่อมเกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก มีมาจาก
สิ่งอันเป็นที่รัก”
ขณะนั้น คหบดีนั้นคิดว่า “ความเห็นของเราตรงกันกับพวกนักเลงสะกา”
แล้วจากไป ต่อมา เรื่องที่พูดกันนี้ ได้แพร่เข้าไปถึงพระราชวังโดยลำดับ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :435 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 7. ปิยชาติกสูตร

ทุกข์ย่อมเกิดจากของอันเป็นที่รัก

[355] ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้รับสั่งเรียกพระนางมัลลิกาเทวีมา
ตรัสว่า “มัลลิกา คำว่า ‘โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เกิดจากสิ่งอัน
เป็นที่รัก มีมาจากสิ่งอันเป็นที่รัก’ พระสมณโคดมของเธอตรัสไว้หรือ”
พระนางมัลลิกาเทวีกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ถ้าพระดำรัสนั้นพระผู้มีพระภาค
ตรัสไว้จริง พระดำรัสนั้นก็เป็นอย่างนั้น เพคะ”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสว่า “พระนางมัลลิกานี้คล้อยตามพระดำรัสที่พระ-
สมณโคดมตรัสเท่านั้นว่า ‘ข้าแต่มหาราช ถ้าพระดำรัสนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสไว้จริง
พระดำรัสนั้นก็เป็นอย่างนั้น’ ศิษย์คล้อยตามคำที่อาจารย์กล่าวว่า ‘ข้อนี้เป็น
อย่างนั้น ท่านอาจารย์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ท่านอาจารย์’ ฉันใด เธอก็ฉันนั้น
เหมือนกัน คล้อยตามพระดำรัสที่พระสมณโคดมตรัสเท่านั้นว่า ‘ข้าแต่มหาราช
ถ้าพระดำรัสนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสไว้จริง พระดำรัสนั้นก็เป็นอย่างนั้น’ มัลลิกา
เธอจงหลบหน้าไปให้พ้น จงพินาศเสีย”
ลำดับนั้น พระนางมัลลิกาเทวีรับสั่งเรียกพราหมณ์ชื่อนาฬิชังฆะมาตรัสว่า
“มาเถิด ท่านพราหมณ์ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
พระยุคลบาททั้งสองของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า แล้วทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมี
พระโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ ตามคำ
ของฉันว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนางมัลลิกาเทวีขอถวายอภิวาทพระยุคลบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ทูลถามถึงพระสุขภาพ ความมีพระโรคาพาธน้อย
กระปรี้กระเปร่า มีพระพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ และท่านจงทูลถามอย่างนี้ว่า
‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดำรัสนี้ว่า ‘โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
เกิดจากสิ่งอันเป็นที่รัก มีมาจากสิ่งอันเป็นที่รัก’ พระผู้มีพระภาคตรัสจริงหรือ’ เธอ
ควรจำพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ดีแล้วมาบอกฉัน ธรรมดาพระตถาคตทั้งหลาย
ย่อมตรัสไม่ผิดพลาดแน่”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :436 }