เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร ถ้าเช่นนั้น ในข้อนี้อาตมภาพขอย้อนถาม
พระองค์ก่อน พระองค์พึงตอบตามที่พอพระทัย พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้น
ว่าอย่างไร พระองค์เป็นผู้ฉลาดในศิลปะ คือ การทรงช้าง การใช้ขอช้าง มิใช่หรือ”
โพธิราชกุมารทูลว่า “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในศิลปะคือ
การทรงช้าง การใช้ขอช้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่า
อย่างไร บุรุษมาในเมืองนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘โพธิราชกุมารทรงรู้ศิลปะคือการทรงช้าง
การใช้ขอช้าง เราจักศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของโพธิราชกุมารนั้น’
แต่เขาไม่มีศรัทธา จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีศรัทธาจะพึงบรรลุ เขามีสุขภาพ
มีโรคาพาธมาก จึงไม่บรรลุผลเท่ากับคนที่มีสุขภาพมีโรคาพาธน้อยจะพึงบรรลุ
เขาเป็นคนโอ้อวด มีมารยา จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจะพึง
บรรลุ เขาเป็นผู้เกียจคร้าน จึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภความเพียรจะพึง
บรรลุ และเขาเป็นผู้มีปัญญาทรามจึงไม่บรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาจะพึงบรรลุ
ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นควรศึกษา
ศิลปะ คือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของพระองค์บ้างไหม”
โพธิราชกุมารทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์
ประกอบแต่ละอย่าง ก็ไม่ควรศึกษาศิลปะ คือ การขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของ
หม่อมฉัน ไม่จำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อ”
[344] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัย
ความข้อนั้นว่าอย่างไร เปรียบเหมือนบุรุษมาเมืองนี้ด้วยเข้าใจว่า ‘โพธิราชกุมาร
ทรงรู้ศิลปะคือการทรงช้าง การใช้ขอช้าง เราจักศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้
ขอช้างในสำนักของโพธิราชกุมารนั้น’ เขาเป็นผู้มีศรัทธา จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคล
ผู้มีศรัทธาจะพึงบรรลุ เขามีโรคาพาธน้อย จึงบรรลุผลเท่าที่คนผู้มีโรคาพาธน้อย
จะพึงบรรลุ เขาเป็นคนไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ไม่โอ้อวด
ไม่มีมารยาจะพึงบรรลุ เขาเป็นผู้ปรารภความเพียร จึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้ปรารภ
ความเพียรจะพึงบรรลุ และเขาเป็นผู้มีปัญญาจึงบรรลุผลเท่าที่บุคคลผู้มีปัญญาจะพึง
บรรลุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :416 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

ราชกุมาร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นควรจะ
ศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของพระองค์บ้างไหม”
โพธิราชกุมารทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นแม้จะประกอบด้วยองค์
ประกอบแต่ละอย่างก็ควรศึกษาศิลปะคือการขี่ช้าง การใช้ขอช้างในสำนักของ
หม่อมฉันได้ ไม่จำต้องกล่าวถึงองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ราชกุมาร องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร 5 ประการนี้
ก็อย่างนั้นเหมือนกัน
องค์ของภิกษุผู้มีความเพียร 5 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา1 เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
2. เป็นผู้มีสุขภาพ มีโรคาพาธน้อย ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อย
อาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก ปานกลางพอเหมาะแก่การ
บำเพ็ญเพียร
3. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เปิดเผยตนตามความเป็นจริงในศาสดา
หรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย