เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 4. โปตลิยสูตร

[38] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละการนินทาและการประทุษ-
ร้ายได้ เพราะอาศัยการไม่นินทาและการไม่ประทุษร้าย’ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีการนินทาและ
การประทุษร้ายเพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์
เหล่านั้นเสีย
อนึ่ง เราเป็นผู้มีการนินทาและการประทุษร้าย แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้
เพราะการนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะ
การนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย หลังจากตายแล้วทุคติเป็นอันหวังได้เพราะ
การนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย’ การนินทาและการประทุษร้ายนั่นเองเป็น
สังโยชน์ เป็นนิวรณ์
อนึ่ง อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่าใด จะพึงเกิดขึ้น
เพราะการนินทาและการประทุษร้ายเป็นปัจจัย เมื่อบุคคลไม่มีการนินทาและการ
ประทุษร้าย อาสวะและความเร่าร้อนที่ทำความคับแค้นเหล่านั้นจะไม่มี คำที่เรา
กล่าวไว้ว่า ‘บุคคลพึงละการนินทาและการประทุษร้ายได้ เพราะอาศัยการไม่นินทา
และการไม่ประทุษร้าย’ นั่น เพราะอาศัยเหตุนี้ เราจึงกล่าวไว้
[39] เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘บุคคลพึงละความโกรธแค้นได้
เพราะอาศัยความไม่โกรธแค้น’ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘เราเป็นผู้มีความ
โกรธแค้น เพราะเหตุแห่งสังโยชน์เหล่าใด เราพึงปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดสังโยชน์
เหล่านั้นเสีย
อนึ่ง เราเป็นผู้มีความโกรธแค้น แม้ตนเองก็ยังติเตียนตนได้เพราะความโกรธ
แค้นเป็นปัจจัย ผู้รู้ใคร่ครวญแล้วพึงติเตียนได้เพราะความโกรธแค้นเป็นปัจจัย หลังจาก
ตายแล้วทุคติเป็นอันหวังได้ เพราะความโกรธแค้นเป็นปัจจัย’ ความโกรธแค้น
นั่นเองเป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :41 }