เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

เหล่าหนึ่งในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบัน เสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน
ที่เกิดขึ้นเพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้น อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป
แต่เราก็ยังมิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ
มนุษย์ ด้วยทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นเพื่อการตรัสรู้บ้างไหม’
อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘เราจำได้อยู่ เมื่อคราวงานของท้าวสักกาธิบดี
ซึ่งเป็นพระราชบิดา เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็น ได้สงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ทางนั้น
พึงเป็นทางแห่งการตรัสรู้หรือหนอ’ อาตมภาพมีความรู้แจ้งที่ตามระลึกด้วยสติว่า
‘ทางนั้นเป็นทางแห่งการตรัสรู้’ อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘เรากลัวความสุขที่เว้น
จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ’ อาตมภาพก็ดำริว่า ‘เราไม่กลัวความสุขที่เว้น
จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายเลย’
ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริต่อไปว่า ‘เราผู้มีกายซูบผอมมากอย่างนี้
จะบรรลุความสุขนั้นไม่ใช่ทำได้ง่ายเลย ทางที่ดี เราควรกินอาหารหยาบ คือข้าวสุก
และขนมกุมมาส’ อาตมภาพก็ฉันอาหารหยาบคือข้าวสุกและขนมกุมมาส ครั้งนั้น
ภิกษุปัญจวัคคีย์เฝ้าบำรุงอาตมภาพ ด้วยหวังว่า ‘พระสมณโคดมบรรลุธรรมใด
จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย’ เมื่อใด อาตมภาพฉันอาหารหยาบ คือข้าวสุก
และขนมกุมมาส เมื่อนั้น ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น ก็เบื่อหน่าย จากไปด้วยเข้าใจว่า
‘พระสมณโคดมมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว’

ฌาน 4 และวิชชา 3

[336] ราชกุมาร อาตมภาพฉันอาหารหยาบให้ร่างกายมีกำลัง สงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :405 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

ตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มี
ทุกข์ไม่มีสุขมีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ อาตมภาพนั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง
2 ชาติบ้าง ฯลฯ อาตมภาพระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ อาตมภาพได้บรรลุวิชชาที่ 1 นี้ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัด
อวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือน
บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ อาตมภาพนั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ อาตมภาพได้บรรลุวิชชาที่ 2 นี้ในมัชฌิมยามแห่ง
ราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่าง
ก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ อาตมภาพนั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่ออาตมภาพรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจาก
กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’
รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่น
เพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :406 }