เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 2. รัฏฐปาลสูตร

สามารถรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหา-
ราชเจ้า’ พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับชนบทนั้น”
“พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ พวกโยมก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียนะซิ”
“มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการที่ 4
ว่า ‘โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา’ ที่อาตมภาพรู้ เห็น
และได้ฟังแล้วจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
พระเจ้าโกรัพยะตรัสว่า “พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
คำว่า ‘โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา’ นี้พระผู้มีพระภาค
ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว
พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาส
แห่งตัณหา” (4)
ท่านพระรัฏฐปาละได้กล่าวเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์อื่น
อีกต่อไปว่า
[307] “อาตมาเห็นผู้คนที่มีทรัพย์ในโลก
ได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้ว
ไม่ยอมให้(ใคร) เพราะความหลง
ได้ทรัพย์แล้ว เก็บสะสมไว้
และปรารถนากามคุณยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พระราชาทรงกดขี่ ช่วงชิงเอาแผ่นดิน
ทรงครอบครองแผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครล้อมรอบ
ตลอดสมุทรสาครฝั่งนี้ ยังไม่ทรงพอ
ยังปรารถนาจะครอบครองสมุทรสาครฝั่งโน้นอีก
ทั้งพระราชาและคนอื่นเป็นจำนวนมาก
ยังไม่ปราศจากตัณหาก็เข้าถึงความตาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :369 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 2. รัฏฐปาลสูตร

ยังไม่เต็มตามที่ต้องการเลย ก็ละทิ้งร่างกายไป
เพราะความอิ่มด้วยกามไม่มีในโลก
หมู่ญาติพากันสยายผม คร่ำครวญถึงคนที่ตายนั้น
และพูดว่า ‘ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราทั้งหลายจึงจะไม่ตาย’
แต่นั้นก็นำศพนั้นซึ่งห่อผ้าไว้แล้วยกขึ้นสู่เชิงตะกอนแล้วช่วยกันเผา
ศพนั้นถูกเขาใช้หลาวแทงเผาอยู่
ละโภคทรัพย์ มีแต่ผ้าผืนเดียว
เมื่อคนจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายก็ช่วยไม่ได้
ทายาททั้งหลายก็ขนทรัพย์สมบัติของเขาไป
ส่วนสัตว์ที่ตายไปก็ย่อมไปตามกรรม
เมื่อตายไป ทรัพย์ไร ๆ คือ
บุตร ภรรยา ทรัพย์ ข้าวของ เงินทอง
และแว่นแคว้นก็ติดตามไปไม่ได้
ทรัพย์ช่วยคนให้มีอายุยืนไม่ได้
ทั้งช่วยคนให้ละความแก่ก็ไม่ได้
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าน้อยนัก
ไม่ยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
ทั้งคนมั่งมี และคนยากจนก็ย่อมประสบเช่นนั้น
ทั้งพาลและบัณฑิตก็ประสบเหมือนกันทั้งนั้น
คนพาลนั่นแหละถูกเหตุแห่งทุกข์กระทบเข้า
ย่อมหวั่นไหวเพราะความเป็นคนโง่
ส่วนบัณฑิตถูกกระทบเข้าก็ไม่หวั่นไหว
เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาเท่านั้นเป็นเหตุบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นที่สุดแห่งภพในโลกนี้ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :370 }