เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 2. รัฏฐปาลสูตร

''มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการ
ที่ 2 ว่า ‘โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ’ ที่อาตมภาพรู้ เห็นและได้ฟังแล้ว
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
“พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ คำว่า ‘โลกไม่มีผู้
ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ’ พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง
โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นอิสระ (2)
ในราชตระกูลนี้ มีเงินและทองอยู่ที่พื้นดินและในอากาศมากมาย พระคุณเจ้า
รัฏฐปาละกล่าวว่า ‘โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ เนื้อความแห่ง
ภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร”
“มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บัดนี้ พระองค์
เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 ประการ บำเรอพระองค์อยู่ ฉันใด พระองค์จักได้
สมพระราชประสงค์ว่า ‘แม้โลกหน้า เราจักเป็นผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ
5 ประการ บำเรอตนอยู่’ ฉันนั้นเหมือนกัน หรือว่าชนเหล่าอื่นจักปกครองทรัพย์
สมบัตินี้ ส่วนพระองค์ก็จักเสด็จไปตามยถากรรม”
“พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ บัดนี้ โยมเอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 ประการ
บำเรอตนอยู่ ฉันใด โยมก็จักไม่ได้ตามประสงค์ว่า ‘แม้ในโลกหน้า เราจะเป็นผู้
เอิบอิ่ม พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 ประการ บำเรอตนอยู่’ ฉันนั้นเหมือนกัน
ที่แท้ชนเหล่าอื่นจักปกครองทรัพย์สมบัตินี้ ส่วนโยมก็จักไปตามยถากรรม”
“มหาบพิตร พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงหมายถึงเนื้อความนี้แล จึงตรัสธัมมุทเทสประการที่ 3
ว่า ‘โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ ที่อาตมภาพรู้เห็นและได้ฟังแล้ว
จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต”
“พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ คำว่า ‘โลกไม่มีอะไร
เป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป’ พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :367 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 2. รัฏฐปาลสูตร

อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตรัสไว้ดีแล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ เป็นความจริง
โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป (3)
ท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า ‘โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่ง
ตัณหา’ เนื้อความแห่งภาษิตนี้ จะพึงเห็นได้อย่างไร”
“มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร พระองค์ทรง
ปกครองแคว้นกุรุอันอุดมสมบูรณ์อยู่ มิใช่หรือ”
“ใช่แล้ว พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ โยมปกครองแคว้นกุรุอันอุดมสมบูรณ์อยู่”
“มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ราชบุรุษของ
พระองค์ที่แคว้นกุรุนี้เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุผล มาจากทิศตะวันออก เข้ามา
เฝ้าพระองค์แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์ควรทรงทราบว่า
‘ข้าพระองค์มาจากทิศตะวันออก ในทิศนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่ง
อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น ในชนบทนั้นมีหมู่พลช้าง
หมู่พลม้า หมู่พลรถ หมู่พลเดินเท้า มีสัตว์ที่มีเขี้ยวงามาก มีเงินทองทั้งที่ยังไม่ได้
หลอมและที่หลอมแล้วเป็นจำนวนมาก ในชนบทนั้น สตรีเป็นผู้ปกครอง พระองค์
สามารถรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น ขอพระองค์จงไปรบเอาเถิด มหา-
ราชเจ้า’ พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับชนบทนั้น”
“พระคุณเจ้ารัฏฐปาละ พวกโยมก็ไปรบเอาชนบทนั้นมาครอบครองเสียนะซิ”
“มหาบพิตร พระองค์ทรงเข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร ราชบุรุษของ
พระองค์ที่แคว้นกุรุนี้เป็นที่เชื่อถือได้ เป็นคนมีเหตุผลมาจากทิศตะวันตก ฯลฯ
มาจากทิศเหนือ ฯลฯ มาจากทิศใต้ ฯลฯ มาจากสมุทรฟากโน้น เข้ามาเฝ้า
พระองค์ แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ขอเดชะมหาราชเจ้า พระองค์ควรทรงทราบว่า
‘ข้าพระองค์มาจากสมุทรฟากโน้น ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้เห็นชนบทใหญ่ มั่งคั่ง
อุดมสมบูรณ์ มีประชากรมาก มีพลเมืองหนาแน่น ในชนบทนั้นมีหมู่พลช้าง
หมู่พลม้า หมู่พลรถ หมู่พลเดินเท้า มีสัตว์ที่มีเขี้ยวงามาก มีเงินทองทั้งที่ยังไม่ได้
หลอมและที่หลอมแล้วเป็นจำนวนมาก ในชนบทนั้น สตรีเป็นผู้ปกครอง พระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :368 }