เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 2. รัฏฐปาลสูตร

ท่านพระรัฏฐปาละกล่าวว่า “อย่าเลย คหบดี วันนี้อาตมภาพฉันอิ่มแล้ว”
บิดากล่าวว่า “พ่อรัฏฐปาละ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารในวัน
พรุ่งนี้เถิด”
ท่านพระรัฏฐปาละรับนิมนต์โดยดุษณีภาพแล้ว ลำดับนั้น บิดาของท่านพระ
รัฏฐปาละทราบอาการที่ท่านพระรัฏฐปาละรับนิมนต์แล้ว จึงเข้าไปยังนิเวศน์ของตน
แล้วให้ขนเงินและทองมากองเป็นกองใหญ่ ให้เอาเสื่อลำแพนปิดไว้ แล้วเรียก
ภรรยาเก่าของท่านพระรัฏฐปาละมากล่าวว่า “มาเถิดแม่สาว ๆ ทั้งหลาย พวกเธอ
เคยแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสำรับใดแล้ว จึงเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของรัฏฐปาลกุลบุตร
เมื่อครั้งก่อน จงแต่งตัวด้วยเครื่องประดับสำรับนั้นเถิด”
[301] ครั้งนั้น เมื่อล่วงราตรีนั้นไป บิดาของท่านพระรัฏฐปาละได้สั่งให้
ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอย่างประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน แล้วใช้คนไปบอกเวลา
แก่ท่านพระรัฏฐปาละว่า “พ่อรัฏฐปาละได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว”
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระรัฏฐปาละครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยัง
นิเวศน์ของบิดาท่านเองแล้วนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว บิดาของท่านพระรัฏฐปาละ
สั่งให้เปิดกองเงินกองทองนั้น แล้วได้กล่าวกับท่านพระรัฏฐปาละว่า
“พ่อรัฏฐปาละ ทรัพย์กองนี้เป็นส่วนของแม่ กองโน้นเป็นส่วนของพ่อ ส่วนอีก
กองหนึ่งเป็นของปู่ ทั้งหมดนี้เป็นของลูกผู้เดียว ลูกสามารถที่จะใช้สอยสมบัติไป
และทำบุญไปก็ได้ มาเถิด พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงลาสิกขาออกมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอย
สมบัติ และทำบุญไปเถิด”
ท่านพระรัฏฐปาละตอบว่า “คหบดี ถ้าท่านพึงทำตามคำของอาตมภาพได้
ท่านพึงให้คนขนกองเงินกองทองนี้ ใส่เกวียนแล้วให้เขาเข็นไปทิ้งไว้ที่กลางกระแส
แม่น้ำคงคาเถิด ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะโสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความ
คร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) และอุปายาส(ความ
คับแค้นใจ) มีทรัพย์นั้นเป็นเหตุ จักเกิดขึ้นแก่ท่าน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :358 }