เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลทายิสูตร

สกุลุทายีปริพาชกขอบวช

[277] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สกุลุทายีปริพาชกได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดี
จักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์
เป็นสรณะ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี
พระภาคเถิด”
เมื่อสกุลุทายีปริพาชกกราบทูลอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้
กล่าวห้ามสกุลุทายีปริพาชกว่า “ท่านอุทายี ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ใน
พระสมณโคดมเลย ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย อุปมาเหมือน
เป็นขันน้ำแล้ว จะลดฐานะลงเป็นจอกในขันน้ำ แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ก็จักมีแก่
ท่านอุทายีฉันนั้นเหมือนกัน ท่านอย่าได้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย
ท่านอุทายี ท่านเป็นอาจารย์แล้วอย่ายอมเป็นศิษย์เลย”
เรื่องนี้เป็นอันยุติได้ว่า บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้ทำให้สกุลุทายีปริพาชก
มีอุปสรรคต่อการประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬสกุลุทายิสูตรที่ 9 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
10. เวขณสสูตร

10. เวขณสสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อเวขณสะ

[278] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อเวขณสะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ได้ยืนอยู่
ณ ที่สมควร แล้วได้เปล่งอุทานในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า “นี้เป็นวรรณะสูงสุด
นี้เป็นวรรณะสูงสุด”

ทรงเปรียบเทียบวรรณะ 2 อย่าง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “กัจจานะ ทำไมท่านจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็น
วรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร”
เวขณสปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่น
ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ
สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า
วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้นพึงขยายความได้อย่างยืดยาว
แต่ท่านไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า
‘เราปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จัก
หญิงคนนั้นหรือว่า เป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’
เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้น
หรือว่ามีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :331 }