เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลุทายิสูตร

เรื่องวรรณะ

[272] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “อุทายี ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมี
ความเห็นว่าอย่างไร”
สกุลุทายีปริพาชกทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในลัทธิอาจารย์ของตน
ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็นวรรณะสูงสุด”
“ในลัทธิอาจารย์ของตน ท่านมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘นี้เป็นวรรณะสูงสุด นี้เป็น
วรรณะสูงสุด’ วรรณะสูงสุดนั้นเป็นอย่างไร”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะ
สูงสุด พระพุทธเจ้าข้า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะไหนเล่า”
“วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด
พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านกล่าวแต่เพียงว่า ‘วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า วรรณะ
นั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ คำที่ท่านกล่าวนั้น พึงขยายความได้อย่างยืดยาว แต่ท่าน
ไม่ชี้วรรณะนั้นให้ชัด เปรียบเหมือนชายคนหนึ่งปรารภถึงหญิงสาวอย่างนี้ว่า ‘เรา
ปรารถนารักใคร่หญิงงามแห่งชนบทนี้’ คนจะถามเขาว่า ‘พ่อคุณ เธอรู้จักหญิงคน
นั้นหรือว่าเป็นนางกษัตริย์ นางพราหมณี นางแพศย์ หรือนางศูทร’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า ‘เธอรู้จักหญิงคนนั้นหรือว่า
มีชื่อ ตระกูล สูง ต่ำ สันทัด ดำ คล้ำ หรือผิวเหลือง อยู่ในหมู่บ้าน นิคม หรือ
เมืองโน้น’ เมื่อถูกถามอย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ยังไม่รู้จัก’ จะถูกถามต่อไปว่า
‘เธอปรารถนารักใคร่หญิงที่ยังไม่เคยรู้จักทั้งไม่เคยเห็น อย่างนั้นหรือ’ เมื่อถูกถาม
อย่างนี้ เขาจะตอบว่า ‘ใช่’
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นจะถือว่า
เลื่อนลอย มิใช่หรือ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :321 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
9. จูฬสกุลุทายิสูตร

“เมื่อเป็นเช่นนี้ คำพูดของชายผู้นั้นถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน พระพุทธเจ้าข้า”
“อุทายี ท่านก็อย่างนั้นเหมือนกัน กล่าวอยู่แต่เพียงว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
วรรณะใดไม่มีวรรณะอื่นยิ่งกว่าหรือประณีตกว่า วรรณะนั้นเป็นวรรณะสูงสุด’ แต่ไม่
ได้ชี้วรรณะนั้นให้ชัด”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเองอย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม
นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากัมพลเหลือง ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกาย
ออกมา แม้ฉันใด อัตตา1ก็มีวรรณะ(แสงสว่าง)ก็ฉันนั้นเหมือนกัน หลังจากตายไป
ย่อมเป็นของยั่งยืน”
[273] “อุทายี ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร แก้วไพฑูรย์อันงาม เกิดเอง
อย่างบริสุทธิ์แปดเหลี่ยม นายช่างเจียระไนดีแล้ว ซึ่งเขาวางไว้ที่ผ้ากำพลเหลือง
ย่อมส่องแสงสว่างเป็นประกายออกมา กับหิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดา
วรรณะทั้ง 2 นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า และประณีตกว่ากัน”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาวรรณะทั้ง 2 นี้ หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืดนี้
ย่อมส่องสว่างกว่า และประณีตกว่า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หิ่งห้อยในราตรีที่มีเดือนมืด กับประทีปน้ำมัน
ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง 2 นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่าและประณีต
กว่ากัน”
“บรรดาวรรณะทั้ง 2 นี้ ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืดส่องสว่างกว่าและ
ประณีตกว่า พระพุทธเจ้าข้า”
“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ประทีปน้ำมันในราตรีที่มีเดือนมืดกับกอง
ไฟใหญ่ในราตรีที่มีเดือนมืด บรรดาวรรณะทั้ง 2 นี้ วรรณะไหนจะส่องสว่างกว่า
และประณีตกว่ากัน”