เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค]
7. มหาสกุลุทายิสูตร

4. เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน ภิกษุ
บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ เธอมีใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไป
ทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกายที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่
ถูกต้อง บุรุษนั่งใช้ผ้าขาวคลุมตัวตลอดศีรษะ ไม่มีส่วนไหนของร่าง
กายที่ผ้าขาวจะไม่ปกคลุม แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจ
อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่งแผ่ไปทั่วกายนี้ ไม่มีส่วนไหนของร่างกาย
ที่ใจอันบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ถูกต้อง
เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วเจริญฌาน 4 ประการนั้นแล สาวก
ของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่

วิชชา 8 ประการ
1. วิปัสสนาญาณ

[252] อีกประการหนึ่ง เราได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลาย
ของเราผู้ปฏิบัติตามรู้ชัดอย่างนี้ว่า ‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่างประกอบขึ้นจาก
มหาภูตรูป 4 เกิดจากมารดาบิดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยงแท้
ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเรา
อาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’ แก้วไพฑูรย์อันงดงาม ตามธรรมชาติมีแปดเหลี่ยม
ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใสเป็นประกายได้สัดส่วน มีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว
หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน คนตาถึงหยิบแก้วไพฑูรย์นั้นวางไว้ในมือแล้วพิจารณารู้ว่า
‘แก้วไพฑูรย์อันงดงามตามธรรมชาติ มีแปดเหลี่ยม ที่เจียระไนดีแล้ว สุกใส เป็น
ประกายได้สัดส่วนมีด้ายสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีนวลร้อยอยู่ข้างใน’
ได้บอกข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้บอก
ข้อปฏิบัติแก่สาวกทั้งหลาย สาวกทั้งหลายของเราผู้ปฏิบัติตามย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
‘กายของเรานี้คุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป 4 เกิดจากมารดาบิดา
เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบ ต้องนวดเฟ้น มีอันแตก
กระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่ในกายนี้’
เพราะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เราบอกแล้วรู้ชัดอย่างนี้นั้นแล สาวกของเราเป็น
อันมากจึงได้บรรลุที่สุดแห่งอภิญญาและอภิญญาบารมีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :300 }