เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 6. สันทกสูตร

“สันทกะ ถ้าเช่นนั้น เราจักอุปมาให้ท่านฟัง วิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมรู้ทั่ว
ถึงเนื้อความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนคนที่มีมือและเท้าขาดไป เมื่อคน
นั้นเดินไปอยู่ หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ก็รู้เสมอต่อเนื่องว่า ‘มือและเท้าของเรา
ขาดแล้ว’ หรือเมื่อเขาพิจารณาเหตุนั้นอยู่ก็รู้ว่า ‘มือและเท้าของเราขาดแล้ว’ หรือ”
“ท่านพระอานนท์ คนนั้นย่อมไม่รู้เสมอต่อเนื่องว่า ‘มือและเท้าของเรา
ขาดแล้ว’ แต่เขาพิจารณาเหตุนั้นแล้วจึงรู้ว่า ‘มือและเท้าของเราขาดแล้ว”
“สันทกะ ภิกษุนั้นก็อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตน
โดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เมื่อเธอเดินไปอยู่
หยุดอยู่ หลับอยู่ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะว่า ‘อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้ว’
ก็ไม่ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป แต่เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาเหตุนั้นอยู่จึงรู้ว่า ‘อาสวะทั้งหลาย
ของเราสิ้นไปแล้ว”
[236] สันทกปริพาชกถามว่า “ท่านพระอานนท์ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุ
กำจัดกิเลสและกองทุกข์ให้ออกไปได้มีจำนวนมากเพียงไร”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “สันทกะ ในพระธรรมวินัยนี้ ภิกษุผู้กำจัดกิเลสและ
กองทุกข์ให้ออกไปได้ มิใช่มีเพียง 100 รูป 200 รูป 300 รูป 400 รูป 500 รูป
ความจริงแล้วมีอยู่จำนวนมากทีเดียว”
สันทกปริพาชกกล่าวว่า “ท่านพระอานนท์ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ
ในพระธรรมวินัยนี้ไม่ได้มีการยกย่องธรรมของตน และไม่มีการติเตียนธรรมของ
ผู้อื่น มีแต่การแสดงธรรมตามเหตุผลเท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและ
กองทุกข์ได้มากมายถึงเพียงนั้น ส่วนอาชีวกเหล่านี้ชื่อว่าเป็นบุตรของมารดาผู้มีบุตร
ตายแล้ว ยกย่องแต่ตนและติเตียนคนอื่นเท่านั้น กลับปรากฏว่ามีผู้กำจัดกิเลสและ
กองทุกข์ได้เพียง 3 คน คือ (1) นันทะ วัจฉะ (2) กิสะ สังกิจจะ (3) มักขลิ โคสาล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :277 }