เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 3. เสขปฏิปทาสูตร

พระอริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ
ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู...
ดมกลิ่นทางจมูก...
ลิ้มรสทางลิ้น...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย...
รู้ธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์
ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้
จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์
เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็น
อย่างนี้แล (2)
พระอริยสาวกเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงกลืนกินอาหาร
ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่กลืนกินอาหาร
เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความ
เบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ด้วยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่า
และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และการอยู่
ผาสุก จักมีแก่เรา’
เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นอย่างนี้แล (3)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :27 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 3. เสขปฏิปทาสูตร

พระอริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเครื่อง
ขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็น
เครื่องขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี นอนดุจ
ราชสีห์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจพร้อม
จะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นเครื่อง
ขัดขวาง ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี
เจ้ามหานามะ พระอริยสาวกเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง
เป็นอย่างนี้แล (4)

สัทธรรม 7 ประการ

[25] พระอริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ เป็นอย่างไร
คือ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคตว่า ‘แม้เพราะ
เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วย
พระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี
รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
2. เป็นผู้มีหิริ คือ ละอายกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอาย
การประกอบบาปอกุศลธรรม
3. เป็นผู้มีโอตตัปปะ คือ สะดุ้งกลัวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
สะดุ้งกลัวการประกอบบาปอกุศลธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :28 }