เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 5. มาคัณฑิยสูตร

เปรียบการแสดงธรรมกับการรักษาคนตาบอด

[219] “มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนคนตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่ได้เห็นรูป
สีดำ รูปสีขาว รูปสีเขียว รูปสีเหลือง รูปสีแดง รูปสีแสด ไม่ได้เห็นที่อันเสมอและ
ไม่เสมอ ไม่ได้เห็นดวงดาว ไม่ได้เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ มิตร อำมาตย์
ญาติสาโลหิตของเขา ได้เชิญแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดมารักษา แพทย์ผู้ชำนาญนั้น
ได้ประกอบยารักษาให้ เขาอาศัยยานั้นแต่ก็เห็นไม่ได้ ทำตาให้ใสไม่ได้ ท่านเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร แพทย์ผู้นั้นต้องมีส่วนแห่งความลำบาก ความคับแค้นมิใช่หรือ”
“ใช่ ท่านพระโคดม”
“มาคัณฑิยะ เราก็อย่างนั้นเหมือนกัน หากจะพึงแสดงธรรมแก่ท่านว่า
‘ความไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคืออันนี้’ ท่านนั้นยังไม่รู้ความไม่มีโรค ยังไม่
เห็นนิพพาน มีแต่ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยเปล่า ลำบากเปล่า”
“ข้าพระองค์เลื่อมใสท่านพระโคดมอย่างนี้ ท่านพระโคดมทรงสามารถแสดงธรรม
แก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะรู้ความไม่มีโรค และเห็นพระนิพพานได้”
[220] “มาคัณฑิยะ เปรียบเหมือนคนตาบอดมาแต่กำเนิด เขาไม่ได้เห็นรูป
สีดำ รูปสีขาว รูปสีเขียว รูปสีเหลือง รูปสีแดง รูปสีแสด ไม่ได้เห็นที่อันเสมอและ
ไม่เสมอ ไม่ได้เห็นดวงดาว ไม่ได้เห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ แต่เขาได้ฟังจากคน
ตาดีผู้กล่าวว่า ‘พ่อคุณ ผ้าขาวผ่องงดงามยิ่งนัก ไม่สกปรก สะอาดสะอ้าน’
คนตาบอดมาแต่กำเนิดนั้นเที่ยวแสวงหาผ้าขาว ชายคนหนึ่งเอาผ้าเนื้อหยาบ
เปื้อนน้ำมันมาลวงเขาว่า ‘พ่อคุณ ผ้าผืนนี้ขาวผ่องงดงามยิ่งนัก ไม่สกปรก สะอาด
สะอ้าน เป็นของท่าน’
เขารับผ้านั้นมาห่ม มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเขาเชิญแพทย์ผู้ชำนาญ
การผ่าตัดมารักษา แพทย์ผู้ชำนาญนั้นทำยาถอนให้ ทำยาถ่าย ยาหยอด ยาป้าย
และยานัตถุ์ให้ เขาอาศัยยานั้นจึงเห็นได้ ทำตาให้ใสได้ พร้อมกับมีตาดีขึ้น เขาย่อม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :257 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 5. มาคัณฑิยสูตร

ละความพอใจและความยินดีในผ้าเนื้อหยาบเปื้อนน้ำมันผืนโน้น เขาจะพึงเบียดเบียน
บุรุษที่ลวงตนนั้น โดยความเป็นศัตรูเป็นข้าศึก และจะพึงสำคัญว่าควรปลงชีวิตบุรุษ
ที่ลวงตนนั้นด้วยความแค้นว่า ‘เราถูกบุรุษผู้นี้ล่อลวงให้หลงผิดด้วยผ้าเนื้อหยาบ
เปื้อนน้ำมันว่า ‘พ่อคุณ ผ้าผืนนี้ขาวผ่องงดงามยิ่งนัก ไม่สกปรก สะอาดสะอ้าน
เป็นของท่าน’ แม้ฉันใด
มาคัณฑิยะ เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากจะพึงแสดงธรรมแก่ท่านว่า ‘ความ
ไม่มีโรคนั้นคืออันนี้ นิพพานนั้นคือนี้’ ท่านนั้นจะพึงรู้ความไม่มีโรค จะพึงเห็น
นิพพานได้ ท่านก็จะละความพอใจและความยินดีในอุปาทานขันธ์ 5 ประการ
พร้อมกับเกิดดวงตาคือปัญญาขึ้น อนึ่ง ท่านจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ
เราถูกจิตนี้ล่อลวงให้หลงผิดมานานแล้ว เราเมื่อยึดมั่นก็ยึดมั่นเฉพาะรูป เฉพาะ
เวทนา เฉพาะสัญญา เฉพาะสังขาร และเฉพาะวิญญาณเท่านั้น เพราะอุปาทาน
เป็นปัจจัย ภพจึงมีแก่เรา เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี ความเกิดแห่งกองทุกข์
ทั้งสิ้นนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้”
“ข้าพระองค์เลื่อมใสท่านพระโคดมอย่างนี้ ท่านพระโคดมทรงสามารถแสดง
ธรรมแก่ข้าพระองค์ โดยวิธีที่ข้าพระองค์จะไม่เป็นคนตาบอดลุกขึ้นจากอาสนะนี้ได้”
[221] “มาคัณฑิยะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงคบสัตบุรุษ เพราะเมื่อใดท่านคบ
สัตบุรุษ เมื่อนั้นท่านจะได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เมื่อใดท่านได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ
เมื่อนั้นท่านก็จักปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อใดท่านปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เมื่อนั้นท่านก็จักรู้เอง เห็นเองว่า ‘โรค ฝี ลูกศร คืออันนี้ โรค ฝี ลูกศร จะดับ
ไปได้โดยไม่เหลือในที่นี้ เพราะอุปาทานของเรานั้นดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ
ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
จึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :258 }