เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 5. มาคัณฑิยสูตร

ตรัสถามมาคัณฑิยปริพาชกเรื่องการสำรวมอินทรีย์

[209] “มาคัณฑิยะ ตามีรูปเป็นที่ยินดี ยินดีแล้วในรูป อันรูปให้บันเทิงแล้ว
ตานั้นตถาคตฝึกดีแล้ว คุ้มครองดีแล้ว รักษาดีแล้ว สำรวมดีแล้ว อนึ่ง ตถาคต
ย่อมแสดงธรรมเพื่อสำรวมตานั้น
มาคันฑิยะ คำที่ท่านกล่าวว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้ทำลายความเจริญ‘’ นั้น
ท่านคงจะหมายถึงความข้อนี้กระมัง”
มาคัณฑิยปริพาชกกราบทูลว่า “ท่านพระโคดม คำที่ข้าพระองค์กล่าวว่า
‘พระสมณโคดมเป็นผู้ทำลายความเจริญ’ นี้ ข้าพระองค์หมายถึงความข้อนั้นแล
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำที่พูดอย่างนี้อยู่ในสูตรของข้าพระองค์”
“มาคัณฑิยะ หูมีเสียงเป็นที่ยินดี ฯลฯ จมูกมีกลิ่นเป็นที่ยินดี ฯลฯ ลิ้นมีรส
เป็นที่ยินดี ฯลฯ กายมีการสัมผัสเป็นที่ยินดี ฯลฯ ใจมีธรรมารมณ์เป็นที่ยินดี
ยินดีแล้วในธรรมารมณ์ อันธรรมารมณ์ให้บันเทิงแล้ว ใจนั้นตถาคตฝึกดีแล้ว
คุ้มครองดีแล้ว รักษาดีแล้ว สำรวมดีแล้ว อนึ่ง ตถาคตย่อมแสดงธรรมเพื่อ
สำรวมใจนั้น
มาคัณฑิยะ คำที่ท่านกล่าวว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้ทำลายความเจริญ’ นั้น
ท่านคงจะหมายถึงความข้อนี้กระมัง”
“ท่านพระโคดม คำที่ข้าพระองค์กล่าวว่า ‘พระสมณโคดมเป็นผู้ทำลาย
ความเจริญ’ นี้ ข้าพระองค์หมายถึงความข้อนั้นแล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำ
ที่พูดอย่างนี้อยู่ในสูตรของข้าพระองค์”
[210] “มาคัณฑิยะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนบางคนในโลกนี้
เป็นผู้เคยได้รับการบำเรอด้วยรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด สมัยต่อมา เขารู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ
และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกไปได้ตามความเป็นจริง ละตัณหาในรูปได้ บรรเทา
ความเร่าร้อนที่เกิดเพราะรูปได้ เป็นผู้ปราศจากความกระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่
มาคัณฑิยะ ท่านมีอะไรที่จะกล่าวกับท่านผู้นี้เล่า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :247 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 5. มาคัณฑิยสูตร

“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ไม่มีอะไรที่จะกล่าว”
“มาคัณฑิยะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คนบางคนในโลกนี้เป็นผู้เคยได้รับ
การบำเรอด้วยเสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ ด้วยกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ ด้วยรสที่พึง
รู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ ด้วยโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ
ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด สมัยต่อมา เขารู้ความเกิด ความดับ คุณ
โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดโผฏฐัพพะให้ออกไปได้ตามความเป็นจริง ละตัณหา
ในโผฏฐัพพะได้ บรรเทาความเร่าร้อนที่เกิดเพราะโผฏฐัพพะได้ เป็นผู้ปราศจากความ
กระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่ มาคัณฑิยะ ท่านมีอะไรที่จะกล่าวกับท่านผู้นี้เล่า”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ไม่มีอะไรที่จะกล่าว”
[211] “มาคัณฑิยะ เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ครองเรือน เป็นผู้เอิ่บอิ่ม
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ 5 ประการ บำเรอตนอยู่ด้วยรูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่า
ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ฯลฯ ด้วยเสียง
ที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ ด้วยกลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ ด้วยรสที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น
ฯลฯ เมื่อก่อนเราเป็นคฤหัสถ์ครองเรือน เป็นผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ
5 ประการ บำเรอตนอยู่ด้วยโผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่
น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ปราสาทของเรานั้นมีอยู่ถึง 3 หลัง คือ
1. ปราสาทหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน
2. ปราสาทหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว
3. ปราสาทหลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน
เรานั้นไม่มีบุรุษเจือปน มีแต่สตรีคอยบำเรอขับกล่อมดนตรี อยู่ในปราสาทเป็นที่
อยู่ในฤดูฝนตลอด 4 เดือน ไม่ได้ลงจากปราสาทเลย
สมัยต่อมา เรานั้นรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัด
กามทั้งหลายให้ออกไปได้ตามความเป็นจริง ละตัณหาในกามได้ บรรเทาความ
เร่าร้อนที่เกิดเพราะกามได้ เป็นผู้ปราศจากความกระหาย มีจิตสงบในภายในอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :248 }