เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 4. ทีฆนขสูตร

เวทนา 3

เวทนา 3 ประการนี้ คือ
1. สุขเวทนา
2. ทุกขเวทนา
3. อทุกขมสุขเวทนา

เมื่อใดบุคคลได้เสวยสุขเวทนา เมื่อนั้นเขาไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวย
อทุกขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น เมื่อใดบุคคลเสวยทุกขเวทนา เมื่อนั้น
เขาไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุขมสุขเวทนา ได้เสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น
เมื่อใดบุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา เมื่อนั้น เขาย่อมไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวย
ทุกขเวทนา ได้เสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น
สุขเวทนาไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป
เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา แม้ทุกขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัย
ปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็น
ธรรมดา แม้อทุกขมสุขเวทนาก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป และดับไปเป็นธรรมดา
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายสุขเวทนา ทุกข-
เวทนา และอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก
ต่อไป’
อัคคิเวสสนะ ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมไม่ทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกับใคร ๆ
โวหารใดที่ชาวโลกนิยมพูดกันก็ไม่ยึดมั่นกล่าวไปตามโวหารนั้น”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :243 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 4. ทีฆนขสูตร

[206] สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรยืนถวายงานพัด ณ เบื้องพระปฤษฎางค์
พระผู้มีพระภาค ได้คิดว่า “ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้ยิ่งแล้ว ตรัสการละธรรม
เหล่านั้น ๆ แก่เราทั้งหลาย พระสุคตทรงรู้ยิ่งแล้ว ตรัสการสลัดทิ้งธรรมเหล่านั้น ๆ
แก่เราทั้งหลาย” เมื่อท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ
ทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน
ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี และปราศจากมลทินได้เกิดขึ้นแล้วแก่ทีฆนข-
ปริพาชกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความ
ดับไปเป็นธรรมดา1”

ทีฆนขปริพาชกแสดงตนเป็นอุบาสก

ลำดับนั้น ทีฆนขปริพาชกเห็นธรรม บรรลุธรรม รู้ธรรม หยั่งลงสู่ธรรม
หมดความสงสัย ไม่มีคำถามใด ๆ มีความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อใครอีกในหลัก
คำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของพระองค์ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศ
ธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอด
ชีวิต” ดังนี้แล

ทีฆนขสูตรที่ 4 จบ