เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 4. ทีฆนขสูตร

ทิฏฐิเป็นเหตุให้เกิดวิวาท

มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่
พอใจแก่เรา’
มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่
เป็นที่พอใจแก่เรา’
มีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่
พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’
บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘สิ่งทั้งปวงเป็นที่พอใจแก่เรา‘นั้น อยู่ใกล้ความกำหนัด ใกล้กิเลสเครื่องผูกสัตว์ไว้
ใกล้กิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้กิเลสเป็นเหตุเกาะติด ใกล้กิเลสเป็นเหตุยึดมั่น
อัคคิเวสสนะ บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้น อยู่ใกล้ความไม่กำหนัด ใกล้ธรรม
เป็นเครื่องเปลื้องสัตว์ ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุ
เกาะติด ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุยึดมั่น”
[202] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆนขปริพาชกได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ท่านพระโคดมยกย่องทิฏฐิของข้าพระองค์หรือ ท่านพระโคดม
ยกย่องทิฏฐิของข้าพระองค์หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ บรรดาทิฏฐิเหล่านั้น ทิฏฐิของสมณ-
พราหมณ์ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘บางสิ่งเป็นที่พอใจแก่เรา บางสิ่งไม่เป็น
ที่พอใจแก่เรา’ นั้น ส่วนที่เห็นว่าเป็นที่พอใจ อยู่ใกล้ความกำหนัด ใกล้กิเลสเป็น
เครื่องผูกสัตว์ไว้ ใกล้กิเลสเป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้กิเลสเป็นเหตุเกาะติด ใกล้กิเลส
เป็นเหตุยึดมั่น ส่วนที่เห็นว่าไม่เป็นที่พอใจ อยู่ใกล้ความไม่กำหนัด ใกล้ธรรม
เป็นเครื่องเปลื้องสัตว์ ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุเพลิดเพลิน ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุ
เกาะติด ใกล้ธรรมที่ไม่เป็นเหตุยึดมั่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :240 }