เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [3. ปริพพาชกวรรค] 4. ทีฆนขสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากำหนดรู้จิตของภิกษุชื่อวัจฉ-
โคตรด้วยจิตของเราก่อนแล้วว่า ‘ภิกษุชื่อวัจฉโคตรเป็นผู้มีวิชชา 3 มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมาก’ แม้เทวดาทั้งหลายก็บอกเนื้อความนี้แก่เราแล้วว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ภิกษุชื่อวัจฉโคตรเป็นผู้มีวิชชา 3 มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาวัจฉโคตตสูตรที่ 3 จบ

4. ทีฆนขสูตร
ว่าด้วยปริพาชกชื่อทีฆนขะ

[201] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ถ้ำสูกรขาตา ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขต
กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่อทีฆนขะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ความจริง ข้าพระองค์มีวาทะ
อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่เป็นที่พอใจแก่เรา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อัคคิเวสสนะ แม้ทิฏฐิของท่านที่ว่า ‘สิ่งทั้งปวงไม่
เป็นที่พอใจแก่เรา’ นั้น ก็ไม่น่าเป็นที่พอใจแก่ท่านด้วย”
“ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ก็ยังพอใจทิฏฐินั้นว่า ‘แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็น
เช่นนั้น แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น”
“อัคคิเวสสนะ คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น
แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น’ ในโลกนี้ คนเหล่านั้นละทิฏฐินั้นไม่ได้ และยังยึด
ถือทิฏฐิอื่นอยู่ คนเหล่านั้นมีจำนวนมากกว่าคนที่ละได้
คนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ‘แม้คำกล่าวนั้นก็จะพึงเป็นเช่นนั้น แม้คำกล่าวนั้น
ก็จะพึงเป็นเช่นนั้น’ ในโลกนี้ คนเหล่านั้นละทิฏฐินั้นได้ และไม่ยึดถือทิฏฐิอื่น คนเหล่านั้น
มีจำนวนน้อยกว่าคนที่ละไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :239 }