เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 6. ลฏุกิโกปมสูตร

เมื่อหญิงนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์จึงพูดกับเธอว่า ‘ไม่ใช่ผีหรอก
น้องหญิง เราเป็นภิกษุยืนบิณฑบาตอยู่’
หญิงนั้นกล่าวว่า ‘พ่อแม่ของภิกษุคงตายแล้วกระนั้นหรือ ภิกษุ ท่านเอา
มีดคม ๆ สำหรับเชือดโคมาเชือดท้องของดิฉันเสียยังดีกว่า การที่ท่านมาเที่ยว
บิณฑบาตในเวลามืดค่ำอย่างนี้เพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่ดีเลย’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ จึงคิดอย่างนี้ว่า
‘พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลาย
ออกไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้ พระผู้มี
พระภาคทรงนำกุศลธรรมเป็นอันมากมาให้เราทั้งหลาย”

อุปมาด้วยนางนกมูลไถ

[150] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุทายี อย่างนั้นเหมือนกัน โมฆบุรุษ
บางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า
‘ความผิดเพียงเล็กน้อยนี้จะสำคัญอะไร พระสมณะรูปนี้ช่างเคร่งครัดนัก’ พวกเขาจึง
ไม่ละความผิดนั้นทั้งที่ยังมีความยำเกรงในเราอยู่ อนึ่ง ความผิดเพียงเล็กน้อยของ
ภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ย่อมเป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย
เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ เปรียบเหมือนนางนกมูลไถถูกผูกด้วยเถาหัวด้วน ย่อมรอ
เวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้นเอง ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
‘เครื่องดักคือเถาหัวด้วนที่เขาใช้ผูกนางนกมูลไถซึ่งรอเวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด
หรือความตายในที่นั้น เป็นเครื่องผูกไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่น’ ผู้นั้น
เมื่อกล่าวอย่างนี้ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่”
ท่านพระอุทายีกราบทูลว่า “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เครื่องดักคือเถาหัวด้วนที่เขา
ใช้ผูกนางนกมูลไถ ซึ่งรอเวลาที่จะถูกฆ่า เวลาที่จะถูกมัด หรือความตายในที่นั้นแล
เป็นเครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่ พระ-
พุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :167 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 6. ลฏุกิโกปมสูตร

“อุทายี โมฆบุรุษบางพวกในธรรมวินัยนี้ก็อย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อเรากล่าวว่า
‘จงละความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยนี้จะสำคัญอะไร
พระสมณะรูปนี้ช่างเคร่งครัดนัก’ พวกเขาจึงไม่ละความผิดนั้นทั้งที่ยังมีความยำเกรง
ในเราอยู่ อนึ่ง ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ย่อมเป็น
เครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่

อุปมาด้วยช้างต้น

[151] อุทายี ส่วนกุลบุตรบางพวกในธรรมวินัยนี้ เมื่อเรากล่าวว่า ‘จงละ
ความผิดนี้เสียเถิด’ ก็กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ความผิดเพียงเล็กน้อยที่ต้องละนี้จะสำคัญ
อะไร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้เราทั้งหลายละ พระสุคตจึงตรัสสอนให้เรา
ทั้งหลายสลัดทิ้ง’ พวกเขาละความผิดนั้นทั้งที่ไม่มีความยำเกรงในเรา อนึ่ง ภิกษุ
ทั้งหลายผู้ใคร่ในสิกขา ละความผิดนั้นแล้ว ไม่มีความดิ้นรน ไม่หวาดกลัว ดำรง
ชีวิตด้วยของที่ผู้อื่นให้ มีใจดุจมฤคอยู่ ความผิดเพียงเล็กน้อยของภิกษุเหล่านั้น
ย่อมเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง บอบบาง เปื่อย ไม่มีแก่นสาร เปรียบเหมือนช้างต้น
มีงางอนงาม เป็นช้างทรง ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว ควาญช้าง
ล่ามโซ่ไว้อย่างมั่นคง พอมันสบัดกายเท่านั้น ก็จะทำให้โซ่ที่ล่ามไว้นั้นขาดแล้วหนีไป
ตามใจปรารถนา ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ช้างต้นนั้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรง
ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว ควาญช้างล่ามโซ่ไว้อย่างมั่นคง พอมัน
สบัดกายเท่านั้น ก็จะทำให้โซ่ที่ล่ามไว้นั้นขาดหนีไปตามใจปรารถนา โซ่นั้นจัดเป็น
เครื่องผูกที่มีกำลัง มั่นคง แน่นแฟ้น ไม่เปื่อย เป็นเหมือนท่อนไม้ใหญ่’ ผู้นั้นเมื่อ
กล่าวอย่างนี้ชื่อว่ากล่าวถูกต้องหรือไม่”
“ไม่ พระพุทธเจ้าข้า เพราะช้างต้นนั้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรง ที่มีชาติ
กำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว ควาญช้างล่ามโซ่ไว้อย่างมั่นคง พอมันสบัดกาย
เท่านั้น ก็จะทำให้โซ่ที่ล่ามไว้นั้นขาดแล้วหนีไปตามใจปรารถนา เครื่องผูกช้างต้นนั้น
จัดเป็นเครื่องผูกที่ไม่มีกำลัง ฯลฯ ไม่มีแก่นสาร พระพุทธเจ้าข้า”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :168 }