เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 5. ภัททาลิสูตร

รับการฝึกตามขั้นตอนโดยลำดับ คนฝึกม้าก็จะฝึกให้มันรู้เรื่องอื่นต่อไปอีก เช่น ฝึก
เทียมแอก เมื่อเขากำลังฝึกให้มันรู้เรื่องในการเทียมแอก มันก็จะพยศ สบัด ดิ้นรน
อย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนม้าที่ไม่เคยฝึก ม้านั้นหมดพยศลงได้เพราะได้รับการฝึก
บ่อย ๆ เพราะได้รับการฝึกตามขั้นตอนโดยลำดับ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีหมดพยศลงได้
เพราะได้รับการฝึกบ่อย ๆ เพราะได้รับการฝึกตามขั้นตอนโดยลำดับ คนฝึกม้าก็จะ
ฝึกให้มันรู้เรื่องอื่นต่อไปอีก คือ

1. การเหยาะย่าง 2. การวิ่งเป็นวงกลม
3. การจรดกีบ 4. การวิ่ง
5. การใช้เสียงร้องให้เป็นประโยชน์ 6. คุณสมบัติได้เป็นราชนิยม
7. ความเป็นวงศ์พญาม้า 8. ความว่องไวชั้นเยี่ยม
9. การเป็นม้าชั้นเยี่ยม 10. การเป็นม้าที่ควรแก่การชมเชย
อย่างยิ่ง

เมื่อคนฝึกม้าฝึกให้มันรู้เรื่องในความว่องไวชั้นเยี่ยม ในการเป็นม้าชั้นเยี่ยม
ในการเป็นม้าควรแก่การชมเชยอย่างยิ่ง ม้านั้นก็จะพยศ สบัด ดิ้นรน อย่างใด
อย่างหนึ่ง เหมือนม้าที่ยังไม่เคยฝึก ม้านั้นหมดพยศลงได้เพราะได้รับการฝึกอยู่
บ่อยๆ เพราะได้รับการฝึกตามขั้นตอนโดยลำดับ ในการขี่ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีซึ่งหมด
พยศลงนั้น คนฝึกม้าก็จะเพิ่มการฝึกให้มีคุณภาพ ให้มีกำลังขึ้น ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี
ประกอบด้วยองค์ 10 ประการนี้แล จึงเป็นม้าควรแก่พระราชา เป็นม้าต้น นับว่า
เป็นราชพาหนะโดยแท้ แม้ฉันใด
ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 10 ประการ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้ควรแก่ของ
ที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก

ธรรม 10 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิอันเป็นอเสขะ
2. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสังกัปปะอันเป็นอเสขะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :163 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 6. ลฏุกิโกปมสูตร

3. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวาจาอันเป็นอเสขะ
4. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมากัมมันตะอันเป็นอเสขะ
5. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาอาชีวะอันเป็นอเสขะ
6. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวายามะอันเป็นอเสขะ
7. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสติอันเป็นอเสขะ
8. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาสมาธิอันเป็นอเสขะ
9. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาญาณะอันเป็นอเสขะ
10. เป็นผู้ประกอบด้วยสัมมาวิมุตติอันเป็นอเสขะ1
ภัททาลิ ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล เป็นผู้ควรแก่ของที่เขา
นำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญ
อันยอดเยี่ยมของโลก”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระภัททาลิมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ภัททาลิสูตรที่ 5 จบ

6. ลฏุกิโกปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยนางนกมูลไถ

[148] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคุตตราปะชื่ออาปณะ
แคว้นอังคุตตราปะ ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังอาปณนิคม ทรงเที่ยวบิณฑบาตในอาปณนิคมแล้ว
เสด็จกลับจากบิณฑบาตภายหลังเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว ทรงเข้าไปยังราวป่า
แห่งหนึ่งเพื่อประทับพักผ่อนกลางวัน ได้ประทับนั่งพักกลางวันที่โคนไม้แห่งหนึ่ง