เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 5. ภัททาลิสูตร

“เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เวลานั้น เธอเป็นอุภโตภาควิมุต เป็น
ปัญญาวิมุต เป็นกายสักขี เป็นทิฏฐิปัตตะ เป็นสัทธาวิมุต เป็นธัมมานุสารี หรือ
เป็นสัทธานุสารีบ้างไหม”
“ไม่ พระพุทธเจ้าข้า”
“เวลานั้น เธอเป็นคนว่าง คนเปล่า คนผิด ใช่ไหม”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนโง่ เป็นคนหลง
ไม่ฉลาด ผู้ประกาศความไม่สามารถใน(การรักษา)สิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรง
บัญญัติไว้(และ)ให้ภิกษุสงฆ์สมาทานศึกษาอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคทรงรับรู้โทษของ
ข้าพระองค์โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
“ภัททาลิ เอาเถิด โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนโง่ เป็นคนหลง ไม่ฉลาด
ผู้ประกาศความไม่สามารถใน(การรักษา)สิกขาบทที่เราบัญญัติไว้(และ)ให้ภิกษุสงฆ์
สมาทานศึกษาอยู่ แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม
เราจึงรับรู้โทษของเธอนั้น การที่บุคคลเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตาม
ธรรมจะสำรวมระวังต่อไปนี้ เป็นความเจริญในอริยวินัย

ผู้ไม่บำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์

[137] ภัททาลิ ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่บำเพ็ญสิกขาในศาสนา
ของศาสดาให้บริบูรณ์ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรพักอยู่ ณ เสนาสนะ
เงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟางเถิด
บางทีเราจะพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ1 วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ
มนุษย์2’ เธอพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 5. ภัททาลิสูตร

ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกไปอยู่อย่างนั้น ศาสดาก็ติเตียนได้
เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนได้ เทวดาก็ติเตียนได้ แม้ตนเอง
ก็ติเตียนตนเองได้ เธอถูกศาสดาติเตียนบ้าง ถูกเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายติเตียนบ้าง
ถูกเทวดาติเตียนบ้าง ตนเองติเตียนตนเองบ้าง ก็ไม่ทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐ
อันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่บำเพ็ญสิกขาในศาสนาของศาสดาให้บริบูรณ์

ผู้บำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์

[138] ภัททาลิ ส่วนภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้บำเพ็ญสิกขาใน
ศาสนาของศาสดาให้บริบูรณ์ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ทางที่ดี เราควรพักอยู่ ณ
เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง
บางทีเราจะพึงทำให้แจ้งญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของ
มนุษย์’ เธอพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า
ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง เมื่อเธอหลีกออกไปอยู่อย่างนั้น แม้ศาสดาก็ติเตียนไม่ได้
แม้เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลายใคร่ครวญแล้วก็ติเตียนไม่ได้ แม้เทวดาก็ติเตียนไม่ได้
แม้ตนเองก็ติเตียนตนเองไม่ได้ เธออันศาสดาไม่ติเตียน เพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
ใคร่ครวญแล้วก็ไม่ติเตียน เทวดาไม่ติเตียน ตนเองติเตียนตนเองไม่ได้ ย่อมทำให้แจ้ง
ญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ภิกษุนั้นสงัดจาก
กามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิด
จากวิเวกอยู่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้บำเพ็ญสิกขาในศาสนาของศาสดาให้บริบูรณ์
[139] อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและ
สุขอันเกิดจากสมาธิอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :155 }