เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 4. มหามาลุงกยสูตร

ปุถุชนมีจิตถูกพยาบาทกลุ้มรุม ถูกพยาบาทครอบงำอยู่ และไม่รู้อุบายเครื่อง
สลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง พยาบาทนั้นของเขามีกำลังแก่กล้าขึ้น
ปุถุชนบรรเทาไม่ได้ จึงชื่อว่าเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์
[131] อานนท์ ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรม
ของพระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรม
ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ มีจิตที่สักกายทิฏฐิกลุ้มรุมไม่ได้
ที่สักกายทิฏฐิครอบงำไม่ได้อยู่ และรู้อุบายเครื่องสลัดสักกายทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้วตาม
ความเป็นจริง อริยสาวกนั้นย่อมละสักกายทิฏฐินั้นพร้อมทั้งอนุสัยได้
อริยสาวกนั้นมีจิตที่วิจิกิจฉากลุ้มรุมไม่ได้ ที่วิจิกิจฉาครอบงำไม่ได้อยู่ และรู้อุบาย
เครื่องสลัดวิจิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง อริยสาวกนั้นย่อมละวิจิกิจฉานั้น
พร้อมทั้งอนุสัยได้
อริยสาวกนั้นมีจิตที่สีลัพพตปรามาสกลุ้มรุมไม่ได้ ที่สีลัพพตปรามาสครอบงำ
ไม่ได้อยู่ และรู้อุบายเครื่องสลัดสีลัพพตปรามาสที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
อริยสาวกนั้นย่อมละสีลัพพตปรามาสนั้นพร้อมทั้งอนุสัยได้
อริยสาวกนั้นมีจิตที่กามราคะกลุ้มรุมไม่ได้ ที่กามราคะครอบงำไม่ได้อยู่ และ
รู้อุบายเครื่องสลัดกามราคะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง อริยสาวกนั้นย่อมละ
กามราคะนั้นพร้อมทั้งอนุสัยได้
อริยสาวกนั้นมีจิตที่พยาบาทกลุ้มรุมไม่ได้ ที่พยาบาทครอบงำไม่ได้อยู่ และรู้
อุบายเครื่องสลัดพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง อริยสาวกนั้นย่อมละ
พยาบาทนั้นพร้อมทั้งอนุสัยได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :145 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 4. มหามาลุงกยสูตร

ข้อปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์

[132] อานนท์ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลไม่อาศัยมรรคและปฏิปทาที่เป็นไป
เพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการแล้ว จักรู้ จักเห็น จักละโอรัมภาคิยสังโยชน์
5 ประการได้ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลไม่ถากเปลือก ไม่ถากกระพี้ของต้นไม้ใหญ่
ประเภทยืนต้นมีแก่นแล้ว จักตัดแก่นเลยทีเดียว แม้ฉันใด เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคล
ไม่อาศัยมรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการแล้ว จักรู้
จักเห็น จักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการได้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เป็นไปได้ที่บุคคลอาศัยมรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์
5 ประการแล้ว จักรู้ จักเห็น จักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการนั้นได้ เป็นไปได้
ที่บุคคลถากเปลือก ถากกระพี้ของต้นไม้ใหญ่ประเภทยืนต้นมีแก่นแล้ว จักตัด
แก่นนั้นได้ แม้ฉันใด เป็นไปได้ที่บุคคลอาศัยมรรคและปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ 5 ประการแล้ว จักรู้ จักเห็น จักละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ประการนั้นได้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
แม่น้ำคงคามีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ ครั้งนั้น บุรุษผู้มีกำลังน้อย
มาด้วยหวังว่า ‘เราจักว่ายตัดกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี’ เขาจะ
ไม่อาจว่ายตัดกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ แม้ฉันใด คนบางคน
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระธรรมกถึกแสดงธรรมเพื่อดับสักกายะอยู่ จิตย่อมไม่แล่นไป
ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่หลุดพ้น พึงเห็นบุคคลเหล่านั้นเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง น้อยนั้น
อานนท์ แม่น้ำคงคามีน้ำเต็มเสมอฝั่ง นกกา(ก้ม)ดื่มกินได้ บุรุษผู้มีกำลังมาก
มาด้วยหวังว่า ‘เราจักว่ายตัดกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคานี้ไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดี’ เขาจะ
ไม่อาจว่ายตัดกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาไปให้ถึงฝั่งโดยสวัสดีได้ แม้ฉันใด คนบางคน
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพระธรรมกถึกแสดงธรรมเพื่อดับสักกายะอยู่ จิตย่อมแล่นไป
เลื่อมใส ตั้งมั่น หลุดพ้น พึงเห็นบุคคลเหล่านั้นเหมือนบุรุษผู้มีกำลังมากนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :146 }