เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 1. จูฬราหุโลวาทสูตร

“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่
ก็มีอยู่หน่อยหนึ่งเหมือนน้ำที่เททิ้งแล้วอย่างนี้”
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงคว่ำภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกับท่านพระราหุลว่า
“ราหุล เธอเห็นภาชนะน้ำที่คว่ำนี้ไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่
ก็เหมือนภาชนะน้ำที่คว่ำแล้วอย่างนี้”
จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงหงายภาชนะน้ำนั้น แล้วตรัสกับท่านพระราหุล
ว่า “เธอเห็นภาชนะน้ำอันว่างเปล่านี้ไหม”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ราหุล ความเป็นสมณะของบุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่
ก็เหมือนภาชนะน้ำที่ว่างเปล่าอย่างนี้ เปรียบเหมือนช้างต้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรง
ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงาน
ด้วยเท้าหน้าทั้ง 2 บ้าง ด้วยเท้าหลังทั้ง 2 บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกาย
ท่อนหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง 2 บ้าง ด้วยงาทั้ง 2 บ้าง ด้วยหางบ้าง
สงวนไว้แต่งวงเท่านั้น เพราะการที่ช้างสงวนงวงไว้นั้น ควาญช้างมีความเห็น
อย่างนี้ว่า ‘ช้างต้น เชือกนี้มีงางอนงาม เป็นช้างทรงที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่า
ศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วยเท้าหน้าทั้ง 2 บ้าง
ด้วยเท้าหลังทั้ง 2 บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกายท่อนหลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง
ด้วยหูทั้ง 2 บ้าง ด้วยงาทั้ง 2 บ้าง ด้วยหางบ้าง สงวนไว้แต่งวงเท่านั้น ชื่อว่า
ช้างต้นยังสละไม่ได้กระทั่งชีวิต’
เมื่อใด ช้างต้นมีงางอนงาม เป็นช้างทรงที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงคราม
มาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วยเท้าหน้าทั้ง 2 บ้าง ด้วยเท้าหลัง
ทั้ง 2 บ้าง ฯลฯ ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง เพราะการที่ช้างทำการงานด้วยงวงนั้น
เมื่อนั้น ควาญช้างจึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ช้างต้นเชือกนี้ มีงางอนงาม เป็นช้างทรง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :118 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [2. ภิกขุวรรค] 1. จูฬราหุโลวาทสูตร

ที่มีชาติกำเนิดดี เคยฝ่าศึกสงครามมาแล้ว บุกบั่นสงครามมาแล้ว ทำการงานด้วย
เท้าหน้าทั้ง 2 บ้าง ด้วยเท้าหลังทั้ง 2 บ้าง ด้วยกายท่อนหน้าบ้าง ด้วยกายท่อน
หลังบ้าง ด้วยศีรษะบ้าง ด้วยหูทั้ง 2 บ้าง ด้วยงาทั้ง 2 บ้าง ด้วยหางบ้าง ด้วยงวงบ้าง
ชื่อว่าช้างต้นสละได้กระทั่งชีวิต’ บัดนี้ ‘ไม่มีอะไรที่ช้างต้นจะทำไม่ได้’ แม้ฉันใด
ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่กล่าวว่า ‘บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จ
ทั้งที่รู้อยู่ จะไม่ทำบาปกรรมอะไรเลย’
ราหุล เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงสำเหนียกในเรื่องนี้อย่างนี้ว่า ‘เราจักไม่
กล่าวเท็จ แม้เพื่อให้หัวเราะกันเล่น’ เธอพึงสำเหนียกอย่างนี้แล ราหุล”

ทรงสอนให้พิจารณากายกรรม

[109] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ราหุล เธอเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร
กระจกมีประโยชน์อย่างไร”
ท่านพระราหุลทูลตอบว่า “มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน ราหุล บุคคลควรพิจารณาให้ดี
แล้วจึงทำกรรมทางกาย พิจารณาให้ดีแล้วจึงทำกรรมทางวาจา พิจารณาให้ดีแล้ว
จึงทำกรรมทางใจ
ถ้าเธอปรารถนาจะทำกรรมใดทางกาย เธอพึงพิจารณากายกรรมนั้นเสีย
ก่อนว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อ
เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง 2 ฝ่ายบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์
เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก กระนั้นหรือ’
ถ้าเธอพิจารณาอยู่พึงรู้อย่างนี้ว่า ‘กายกรรมที่เราปรารถนาจะทำนี้ เป็นไป
เพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้ง 2 ฝ่ายบ้าง
กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก’ กรรมทางกายเห็นปานนี้
เธออย่าทำเด็ดขาด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :119 }