เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

ข้อนั้น เพราะเหตุไร
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่ง
อกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม
อนึ่ง เหตุมีอยู่ เขาเห็นว่า เหตุมีอยู่จริง’ ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นสัมมาทิฏฐิ
เหตุมีอยู่จริง เขาดำริว่า ‘เหตุมีอยู่จริง’ ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาสังกัปปะ
เหตุมีอยู่จริง เขากล่าวว่า ‘เหตุมีอยู่จริง’ วาจานั้นของเขาจึงเป็นสัมมาวาจา เหตุมี
อยู่จริง เขากล่าวว่า ‘เหตุมีอยู่จริง’ ผู้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนให้เป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้
เป็นเหตุกวาทะ เหตุมีอยู่จริง เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ‘เหตุมีอยู่จริง’ การที่เขาทำให้
ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง และเขาย่อมไม่ยกตน
ข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้ง
ความเป็นผู้ทุศีลแล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย กุศลธรรม
เป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึก
กับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น
ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ถ้าเหตุมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ หลังจาก
ตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้ายอมรับว่าเหตุไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์
เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญ
จากวิญญูชนในปัจจุบันว่า ‘เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล มีสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุกวาทะ’
ถ้าเหตุมีอยู่จริง บุรุษบุคคลนี้ ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง 2 คือ (1) ในปัจจุบันวิญญูชน
ย่อมสรรเสริญ (2) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ อย่างนี้
อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ดีแล้วอย่างนี้ แพร่ดิ่งไปทั้ง
สองฝ่าย ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :109 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

ความขัดแย้งกันเรื่องอรูปพรหม

[103] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้
มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง’ สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง
มีวาทะขัดแย้งโดยตรงกับสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกเขากล่าวอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหม
มีอยู่โดยประการทั้งปวง’ ท่านทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สมณพราหมณ์
เหล่านี้มีวาทะขัดแย้งกันโดยตรง มิใช่หรือ”
“ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”
“พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์พวกนั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘การที่สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิ
อย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมไม่มีโดยประการทั้งปวง’ เราไม่เห็นด้วย แม้การที่สมณพราหมณ์
ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง’
เราก็ไม่รับรู้ด้วย ส่วนเราเอง เมื่อไม่รู้ ไม่เห็น จะพึงถือเอาฝ่ายเดียว กล่าวว่า
‘นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง’ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย ถ้าคำของสมณ-
พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘อรูปพรหมไม่มีโดยประการ
ทั้งปวง’ เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพผู้มีรูปสำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่
ถือว่าผิด ถ้าคำของสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘อรูปพรหมมีอยู่โดยประการทั้งปวง’ เป็นคำจริงแล้ว เป็นไปได้ที่เราจักเกิดในเหล่าเทพ
ผู้ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญาซึ่งไม่ถือว่าผิด อนึ่ง การถือท่อนไม้ การถือศัสตรา
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การพูดขึ้นเสียงว่า ‘เจ้า เจ้า’ การพูดส่อเสียด
และการพูดเท็จซึ่งมีรูปเป็นเหตุย่อมปรากฏ แต่ข้อนี้ย่อมไม่มีในอรูปพรหมโดย
ประการทั้งปวง’ วิญญูชนนั้นครั้นพิจารณาดังนี้แล้วย่อมปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับแห่งรูปอย่างเดียว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :110 }