เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] เรื่องอริยสัจ 4 ประการ

เรื่องอริยสัจ 4 ประการ1

[155] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด
อานนท์ เราจะเข้าไปยังโกฏิคามกัน” ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จถึงโกฏิคาม ประทับอยู่ที่โกฏิคามนั้น
รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจ 4 ประการ เราและเธอ
ทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
อริยสัจ 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึงเที่ยว
เร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
2. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลาย
จึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
3. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายจึง
เที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
4. เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ เราและ
เธอทั้งหลายจึงเที่ยวเร่ร่อนไปตลอดกาลยาวนานอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขอริยสัจ เราและเธอ
ทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขสมุทยอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอด
ทุกขนิโรธอริยสัจ เราและเธอทั้งหลายได้รู้แจ้งแทงตลอดทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
เราและเธอทั้งหลายถอนภวตัณหาได้แล้ว ภวเนตติ2สิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”3

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/287/103-104, สํ.ม. (แปล) 19/1091/605
2 ภวเนตติ หมายถึงตัณหานำไปสู่ภพ ตัณหาประดุจเชือกซึ่งสามารถนำสัตว์ออกจากภพไปสู่ภพ (ที.ม.อ.
155/144, องฺ.จตุกฺก.อ. 2/1/279)
3 ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/1/1-2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร]
ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“เพราะไม่เห็นอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง
เราและเธอทั้งหลาย จึงท่องเที่ยวไป
ในชาตินั้น ๆ ตลอดกาลยาวนาน
แต่เพราะได้เห็นอริยสัจ 4
เราและเธอทั้งหลายจึงถอนภวเนตติได้
ตัดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้เด็ดขาด
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก”
ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ที่โกฏิคาม ทรงแสดงธรรมีกถา
เป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า “ศีลมีลักษณะอย่างนี้ สมาธิมีลักษณะ
อย่างนี้ ปัญญามีลักษณะอย่างนี้ สมาธิอันบุคคลอบรมโดยมีศีลเป็นฐาน ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก ปัญญาอันบุคคลอบรมโดยมีสมาธิเป็นฐาน ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก จิตอันบุคคลอบรมโดยมีปัญญาเป็นฐาน ย่อมหลุดพ้นโดยชอบจาก
อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ”

ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า1

[156] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ตามความพอพระทัยในโกฏิคาม
รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสว่า “มาเถิด อานนท์ เราจะเข้าไปยังนาทิกคามกัน”
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
หมู่ใหญ่เสด็จถึงนาทิกคาม ประทับอยู่ที่พระตำหนักอิฐ ในนาทิกคาม
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ม. (แปล) 19/1004-1006/505-509

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :100 }