เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

พระผู้มีพระภาคทรงเห็นเทวดาจำนวนมากเหล่านั้น พากันจับจองที่เป็น
พัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ครั้นในเวลาเช้า
เมื่อเสด็จลุกขึ้น รับสั่งเรียกท่านพระอานนท์มาตรัสถามว่า “อานนท์ ใครจะสร้าง
เมืองในปาฏลิคาม”
ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะ
ชาวแคว้นมคธกำลังจะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาว
แคว้นมคธ จะสร้างเมืองในปาฏลิคาม เพื่อป้องกันพวกเจ้าวัชชี เหมือนได้ปรึกษา
กับพวกเทพชั้นดาวดึงส์แล้ว ณ ที่นี้ เราได้เห็นเทวดาจำนวนมากพากันจับจองที่
เป็นพัน ๆ แห่ง ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ จิตของ
พระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่
เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลาง
ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางจับจอง จิตของพระราชา
และราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มี
ศักกดิ์น้อยจับจอง ตราบใดที่ยังเป็นแดนที่อารยชนติดต่อกันอยู่ ตราบใดที่ยังเป็นเส้น
ทางค้าขาย ตราบนั้น เมืองปาฏลีบุตรนี้ยังจะเป็นเมืองชั้นเยี่ยม เป็นย่านการค้าอยู่
ต่อไป แต่เมืองปาฏลีบุตรนั้นจะมีอันตราย 3 อย่าง คือ อันตรายจากไฟ อันตราย
จากน้ำ หรืออันตรายจากการแตกความสามัคคี”
[153] ต่อมา มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ โปรดรับภัตตาหาร
ของพวกข้าพระองค์ในวันนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์ด้วยพระอาการดุษณี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :96 }


พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] การสร้างเมืองปาฏลีบุตร

เมื่อมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธทราบพระอาการ
ที่พระผู้พระภาคทรงรับนิมนต์แล้วจึงเข้าไปยังที่พักของตน สั่งให้จัดเตรียมของขบฉัน
อันประณีตไว้ในที่พักของตนแล้วให้คนไปกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า “ได้เวลาแล้ว
ภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร1
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จเข้าไปยังที่พักของมหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์
วัสสการะชาวแคว้นมคธ ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว มหาอำมาตย์
ทั้งสองได้นำของขบฉันอันประณีตประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน
ให้อิ่มหนำด้วยมือของตน ๆ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จวางพระหัตถ์จากบาตร
มหาอำมาตย์สุนีธะและมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธเลือกที่นั่ง ณ ที่สมควรที่
ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาเหล่านี้ว่า
“บัณฑิตอยู่ในที่ใด เลี้ยงดูท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ในที่ที่ตนอยู่นั้น
พึงอุทิศทักษิณา2แก่เหล่าเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นอันเขาบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบ
อันเขานับถือแล้ว ย่อมนับถือเขาตอบ
จากนั้นย่อมอนุเคราะห์บัณฑิตนั้นเป็นการตอบแทน
ดุจมารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดแต่อก3
ดังนั้น ผู้ที่เทวดาอนุเคราะห์แล้ว
ย่อมพบเห็นแต่สิ่งที่เจริญทุกเมื่อ”

เชิงอรรถ :
1ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เป็นสำนวนแสดงประเพณีในการเข้าบ้าน นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระผู้มี
พระภาคมิได้ทรงนุ่งสบง ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยพระวรกายส่วนบน ครองอันตรวาสก หมายถึง
พระผู้มีพระภาคทรงผลัดเปลี่ยนสบงหรือขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึงทรงถือ
บาตรด้วยพระหัตถ์ ทรงถือจีวรด้วยพระวรกาย คือ ห่มจีวรอุ้มบาตรนั่นเอง(วิ.อ. 1/16/180, ที.ม.อ.
153/143, ที.ม.ฏีกา 153/171)
2 พึงอุทิศทักษิณา หมายถึงพึงให้ส่วนบุญ (ที.ม.อ. 2/153/143)
3 บุตรผู้เกิดแต่อก หมายถึงบุตรที่มารดาเลี้ยงดูให้เจริญอยู่แนบอก (ที.ม.อ. 143/143)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :97 }