เมนู

พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค [3. มหาปรินิพพานสูตร] ภิกขุอปริหานิยธรรม

พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุสงฆ์ประชุมกันแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคจงกำหนดเวลาที่สมควร
ณ บัดนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงลุกจากพุทธอาสน์ เสด็จเข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย เราจะแสดงอปริหานิยธรรม 7 ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย
จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย
1. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญ1อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
2. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิก
ประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำ
3. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่ง
ที่เราได้บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นตามสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้แล้ว
4. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ
เป็นรัตตัญญู2 บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และ
สำคัญถ้อยคำของท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง

เชิงอรรถ :
1 ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. 136/126)
2 เป็นเถระ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง (ถิรภาวะ) ในพระศาสนา ไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีก ประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้ามีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวชรู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (ที.ม.อ. 136/126, ที.ม.ฏีกา 136/155)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 10 หน้า :82 }